ส่องคลัง 'ทองคำ' ของ 'ไทย' มีเท่าไร ทำไมต้องซื้อเพิ่ม ?
เปิดคลัง "ทองคำ" ในฐานะ "เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ" ภายใต้การดูแลของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" มีอยู่เท่าไร แล้วทำไมต้องซื้อเพิ่มในช่วง "โควิด-19"
ช่วงที่ผ่านมา กระแสข่าวว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทย" หรือ "แบงก์ชาติ" ซื้อ "ทองคำ" เพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมแบงก์ชาติถึงต้องซื้อทองคำในช่วงนี้ ทำให้แบงก์ชาติต้องออกมายอมรับว่าซื้อทองคำเพิ่มจริง พร้อมชี้แจงเหตุผลที่ต้องสำรองทองคำเพิ่มในสถานการณ์เช่นนี้
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ทองคำ" ในฐานะ "เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ" ว่ามีความจำเป็นอย่างไร ทำไมต้องมี พร้อมเปิดคลังแบงก์ชาติว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีทองคำอยู่เท่าไรบ้าง ?
- มูลค่าทองคำ ที่เป็น "เงินสำรองระหว่างประเทศ" ของไทยมีเท่าไร ?
ข้อมูล "เงินสำรองระหว่างประเทศ" จากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงมูลค่าของทองคำที่มีอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึง มิ.ย. 2564 มีดังนี้
ม.ค. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 273,869.68 ล้านบาท
ก.พ. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 257,649.29 ล้านบาท
มี.ค. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 264,808.71 ล้านบาท
เม.ย. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 350,293.43 ล้านบาท
พ.ค. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 467,614.67 ล้านบาท
และล่าสุด เดือน มิ.ย. 64 มีทองคำรวมมูลค่า 445,226.54 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
- ทำไมแบงก์ชาติซื้อทองคำเพิ่ม ในช่วง "โควิด-19" ?
คำถามที่หลายๆ คนสงสัยหลัง แบงก์ชาติออกมายอมรับว่ามีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจริง โดยแบงก์ชาติได้ให้เหตุผลในการซื้อทองคำเพิ่มในครั้งนี้ว่า "เพื่อให้มีไว้เพียงพอ พร้อมใช้ รองรับการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ และรักษามูลค่าในรูปเงินตราของต่างประเทศเพื่อรักษาอำนาจซื้อของไทยในตลาดโลก"
บทความที่น่าสนใจ :
> รู้ไหม! 10ประเทศ-องค์กรที่สำรอง ‘ทองคำ’มากสุดในโลก
> เปิดตู้ ‘ทองคำ’ สำรวจภาระที่ 'ร้านทอง' ต้องแบกรับ
> อยากลงทุน “ทอง” เลือกแบบไหนทำกำไรได้มากกว่า
> ส่อง 4 ปัจจัยที่ทำให้ 'ราคาทอง' ถูกหรือแพง
> 'ทอง' ใครว่าเกินเอื้อม! มีเงินหลักพันก็ลงทุนได้
- ทำไมต้องมี "ทองคำ" ?
"ทองคำ" เป็นหนึ่งใน "เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves)" ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การถือครอง หรือการควบคุมของธนาคารแต่ละประเทศ ซึ่งในประเทศไทย ผู้ถือครองเงินทุนสำรองเหล่านี้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ
ซึ่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยทั่วไปมักจะประกอบไปด้วย
- ทองคำ
- เงินตราต่างประเทศต่างๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ เยน หยวน ฯลฯ
- สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR)
- สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องที่มีไว้เพื่อบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินโลกเพื่อ ใช้รองรับการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ รักษาอำนาจซื้อของไทยในตลาดโลกนั่นเอง
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย