แบงก์รัฐ-เอกชน เคาะ 'พักชำระหนี้' 2 เดือน รวมเบอร์โทรมาให้แล้ว!
ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วน "พักชำระหนี้" ให้ "ลูกหนี้" ทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด
จากกรณีภาครัฐได้ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่ม "ลูกหนี้" ที่มีฐานะการเงินเปราะบาง มาตั้งแต่การระบาดโควิดระลอกก่อน ทางสมาคมธนาคารฯ จึงเร่งปล่อยมาตรการ "พักชำระหนี้" 2 เดือน
โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ รวมถึงสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) ที่ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้ จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเร่งด่วน จึงเห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการพักชำระหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปเงื่อนไขในมาตรการ “พักชำระหนี้” พร้อมรวบรวมเบอร์โทร และช่องทางติดต่อมาให้ทราบกันดังนี้
1. มาตรการ "พักชำระหนี้" 2 เดือน คืออะไร?
เป็นมาตรการเร่งด่วน ที่เร่งออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ(นายจ้าง) และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด (ฉบับที่ 27) กรณีต้องปิดกิจการ โดยธนาคารและสถาบันการเงิน จะ "พักชำระหนี้" ให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. ลูกหนี้แจ้ง "พักชำระหนี้" ได้ 19 ก.ค.นี้
ลูกหนี้สามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสถาบันการเงิน/ธนาคาร ที่ใช้บริการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธปท. ได้ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213
3. พักชำระหนี้ให้อย่างน้อย 2 เดือน
มาตรการ "พักชำระหนี้" ในที่นี้หมายถึง พักชำระเงินต้น และพักชำระดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย อย่างน้อย 2 เดือน โดยให้สิทธิ์ "พักชำระหนี้" แก่ลูกหนี้ (นายจ้าง/ลูกจ้าง) ทั้งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เริ่มตั้งแต่งวด ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
4. ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง = ปิดกิจการ
มาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้อง ปิดกิจการ จากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
5. ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม = ยังเปิดกิจการ แต่รายได้ลดลง
สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้
ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
6. รวมเบอร์/ช่องทางติดต่อ ทุกธนาคาร เช็คที่นี่!
ลูกหนี้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือในมาตรการ "พักชำระหนี้" จากธนาคารนั้นๆ ที่ตนใช้บริการอยู่ ได้ 5 ช่องทางคือ เบอร์โทร (คอลเซ็นเตอร์), LINE, FACEBOOK, Website, Mobile App เช่น
ธอส. โทร. 02-645-9000
ธนาคารออมสิน โทร. 1115 , 02-299-8000
ธ.ก.ส. โทร. 02-555-0555
ธสน. โทร. 02-271-3700 , 02-037-6099
ธพว. โทร. 1357
ธอท. โทร. 1302
บสย. โทร. 02-890-9999 , 06-5507-8999 , 06-5502-6999
ธ.กรุงเทพ (BBL) โทร. 1333 , 02-645-5555
ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) โทร. 02-777-7777
ธ.กรุงไทย (KTB) โทร. 02-111-1111
ธ.กสิกรไทย (Kbank) โทร. 02-888-8888
ธ.กรุงศรีอยุธยา (BAY) โทร. 1572 , 02-740-7400
ธ.ทหารไทยธนชาติ (ttb) โทร. 1428
ธ.ยูโอบี (UOBT) โทร. 02-285-1555
------------------------
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย