ตร.แจงฟันคดี 'แกนนำม็อบ' หน้ากระทรวงสาธารณสุข
รองโฆษกตร. ชี้แจงการดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม หน้ากระทรวงสาธารณสุข หลังพยายามฝ่าแนวกั้นทำตำรวจเจ็บ 4 นาย
17 ก.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุนนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ว่า สืบเนื่องจากได้มีการชุมนุม นำโดยนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ ชินวัตร และนายธนเดช ศรีสงคราม หรือ ม่อน อาชีวะ เข้ามาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข เวลาประมาณ 13.41 น.
จากนั้น พ.ต.อ.วนัสชัย ยิ่งยงสมสวัสดิ์ ผกก. สภ.เมืองนนทบุรี ได้อ่านประกาศเกี่ยวกับการชุมนุม รวมถึงข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ต่อมา เวลาประมาณ 17.19 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้น และใช้ความรุนแรงกับตำรวจ ด้วยการกระโดดถีบ และผลักดัน โดยทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเพื่อตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม แต่จากเหตุการณ์นี้มีตำรวจบาดเจ็บ 4 ราย
ต่อมาตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ, ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ฯ
ล่าสุด ตำรวจได้นำตัว 2 ผู้ต้องหา ไปฝากขังพร้อมค้านประกันตัว ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ส่วนผู้ต้องหาที่ได้หลบหนีไปนั้น อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติหมายจับต่อไป อีกทั้งจะดำเนินการพิสูจน์ทราบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุกราย และดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด
รองโฆษกตร. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ข้างต้น ตำรวจได้ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วว่าการชุมนุม เป็นการกระทำผิดที่กฎหมาย และขอให้ยุติการชุมนุม แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงขอเตือนผู้ที่กระทำความผิดและผู้ชุมนุมให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสีย เพราะนอกจากการกระทำของท่านจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะพิสูจน์ทราบและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุกรายอย่างถึงที่สุด
อีกทั้งขณะนี้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ได้ประกาศ เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ฉบับที่ 6) ลง 16 กรกฎาคม 2564 และ โดยเฉพาะการกระทำความผิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและ 4 จังหวัดในภาคใต้ ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ก็จะมีโทษเพิ่มเติมอีก ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548(ฉบับที่ 27) ซึ่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมรวมตัวเกินกว่า 5 คน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง