'รพ.พระนครศรีอยุธยา' ใช้ไอที ช่วย 'บริหารเตียง' ผู้ป่วยโควิด-19

'รพ.พระนครศรีอยุธยา' ใช้ไอที ช่วย 'บริหารเตียง' ผู้ป่วยโควิด-19

'รพ.พระนครศรีอยุธยา' นำระบบไอทีช่วย 'บริหารเตียง' และการติดตามดูแลผู้ป่วย จัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน Home Isolation , Community Isolation จัดการเตียงให้กลุ่มสีเหลือง-แดงได้ดีขึ้นมาก

ปัญหาใหญ่ของการระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้คือจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมากจนขนาดที่ว่าโรงพยาบาลต่างๆ ขยายศักยภาพและจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมาจำนวนมากแล้วก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด

หากดูในรายละเอียดจริงๆจะพบว่ากว่า 80% ของผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วย 'กลุ่มสีเขียว' ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วย 'กลุ่มสีเหลือง' ที่อาการปานกลางจะมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 15% และ 'ผู้ป่วยสีแดง' ที่มีอาการรุนแรงมีสัดส่วนประมาณ 5% เพียงแต่ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยยังน้อย นโยบายการดูแลผู้ป่วยจึงเน้นให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรับได้ ก็มีความจำเป็นต้องปรับนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ดังนั้น ในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนก็จะได้ยินคำว่า Home Isolation , Community Isolation กันบ่อยมากขึ้น หลักการคือให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน พร้อมกับมีการติดตามดูแลโดยโรงพยาบาลผ่านระบบ tele-medicine ส่วนเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามเน้นรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้มีเตียงเหลือพอสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่มีภาพคนป่วยหนักนอนซมรอความช่วยเหลืออยู่ที่บ้านให้เห็นอีก

  • รพ.พระนครศรีอยุธยา ใช้ IT ช่วย 'บริหารเตียง'

ทั้งนี้ การรักษาตัวที่บ้านค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ของไทยและเพิ่งเริ่มคิกออฟกันจริงๆ จังๆ ได้ไม่กี่สัปดาห์นี้เอง โรงพยาบาลหรือคลินิกหลายๆแห่งอาจจะยังติดขัดและต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง อย่างไรก็ดี ก็มีตัวอย่างดีๆจาก รพ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและต้องทำ Home Isolation เหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยการนำระบบไอทีมาช่วยก็ทำให้การบริหารจัดการเตียงและการติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

162677120042

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • หลังปลดล็อก Antigen Test Kit พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 30 รายต่อวัน

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ให้ข้อมูลว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังใช้การตรวจแบบ RT-PCR พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4 ราย แต่พอกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจแบบ Antigen Test Kit ก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 30 ราย ขณะที่การจัดการเตียงนั้น เดิมทีโรงพยาบาลรับแอดมิดหมดแต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เตียงเต็ม ถึงขนาดที่เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเตียงก็เต็มหมดภายในวันเดียว

ด้วยเหตุนี้จึงต้องบริหารจัดการเตียงเสียใหม่โดยจัดหมวดหมู่ให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านที่โรงพยาบาลดูแลติดตามอาการอยู่กว่า 100 ราย แล้วเก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้สำหรับคนไข้ที่ต้องการจริงๆ ซึ่งคนที่รักษาตัวที่บ้านนั้นก็จะต้องเอกซเรย์ปอดก่อนเพื่อคัดกรองว่าจะไม่มีแนวโน้มอาการหนักในอนาคต

จากนั้นก็ให้ยาไว้ที่บ้านสำหรับรักษาตามอาการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ รวมทั้งมีถุงยังชีพและส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ โดยอาหารจะจ้างเหมาจากร้านค้าในพื้นที่และให้รับผิดชอบส่งถึงบ้านผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้า 1 ครั้ง และตอนเที่ยงอีก 1 ครั้ง โดยตอนเที่ยงจะรวมมื้อเที่ยงและมื้อเย็นไว้ด้วยกันเลย

1626771200100

  • Tele-medicine ติดตามอาการผู้ป่วย

สำหรับกระบวนการติดตามดูแลอาการผู้ป่วยที่บ้านนั้น โรงพยาบาลใช้โปรแกรม tele-medicine ที่ชื่อว่า Covid Tracker ซึ่งพัฒนาโดยคุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด โดยได้รับสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งในการทำงานนั้น คนไข้จะได้รับแจกเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายและเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว เพื่อวัดค่าต่างๆแล้วให้คนไข้ล็อกอินผ่าน line official แล้วส่งข้อมูลมาให้โรงพยาบาล

 

คนไข้จะส่งข้อมูลอุณหภูมิร่างกายและค่าออกซิเจนในเลือดวันละ 2 ครั้งเวลา 09.00 น. และเวลา 15.00 น. ซึ่งในโปรแกรมก็จะออกแบบ user interface ให้ใช้งานง่าย โดยมีช่องให้ติ๊กเครื่องหมาย เช่น ติ๊กว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน เราให้เปิด GPS ด้วยเพื่อดูว่าอยู่บ้านจริง แล้วก็จะมีแบบฟอร์มให้เลือกติ๊กตามอาการ เช่น อาการไข้ แน่นหน้าอก อุณภูมิ ชีพจร ออกซิเจนในเลือด คนไข้ก็ติ๊กๆอาการของตัวเองมา

"ข้อมูลก็จะวิ่งมาโรงพยาบาลแล้วประมวลผลจัดหมวดหมู่ไว้ เช่น ถ้าใครติ๊กว่าอุณหภูมิเกินมาตรฐาน ค่าออกซิเจนต่ำ ระบบก็จะแจ้งเตือน เราก็จะเห็นบนหน้าจอเลย ถ้าอาการปกติก็สถานะก็จะเป็นสีเขียว แต่คนที่อาการผิดปกติระบบก็จะแจ้งเตือนเป็นสีเหลือง ทำให้โรงพยาบาลสามารถมอนิเตอร์คนไข้ได้ในจำนวนมากๆ เพราะระบบจะประมวลผลมาให้หมด เป็นหมวดหมู่และรวดเร็ว" พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

162677120059

ทั้งนี้ เมื่อระบบแจ้งเตือนแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะโทรกลับไปสอบถามอาการ โดยอาจให้วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนให้ดู แล้วให้ออกกำลังกายลุกนั่งเพื่อดูว่าระดับออกซิเจนในเลือดลดลงหรือไม่ ถ้าลดลงก็แสดงว่ามีความผิดปกติ อาจเป็นปอดบวม โรงพยาบาลก็จะส่งรถไปรับและมี Fast Track ให้ ไม่ปะปนกับคนไข้อื่นๆ และถ้าต้องนอนโรงพยาบาลก็จะเตรียมเตียงไว้ให้

"โปรแกรมนี้เราใช้มาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก แต่พอมีเรื่อง Home Isolation เข้ามาก็เอามาปรับปรุงฟีเจอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมและง่ายต่อการใช้งาน โดยทดลองที่โรงพยาบาลเราก่อนแล้วทางคุณพงษ์ชัยก็ถอดบทเรียนและเอาไปให้ที่อื่นใช้ฟรี หลักๆมันก็คือระบบ tele-monitoring ที่ช่วยให้การบริหารจัดการเตียงดีขึ้น ถ้าเราสามารถแยกกลุ่มสีเขียวออกไปแล้วโรงพยาบาลมีแต่กลุ่มสีเหลืองและสีแดง เตียงถึงจะพอ ซึ่งพอบริหารจัดการแบบนี้แล้วก็ทำให้ดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการเตียงได้ดีขึ้นมาก ไม่มีคนไข้อาการปานกลางหรือหนักนอนหอบอยู่ที่บ้านแบบที่ปรากฎในโซเชียลมีเดีย"พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

  • ทำงานร่วมกับหมอครอบครัว รพ.สต. 

พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากระบบการติดตามอาการผู้ป่วยและการบริหารจัดการเตียงแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการคือความเข้มแข็งของเครือข่ายปฐมภูมิในพื้นที่ โดยโรงพยาบาลทำงานร่วมกับทีมหมอครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการติดตามดูแลผู้ที่รักษาตัวที่บ้าน คอยสอบถามว่ามีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่

ขณะเดียวกัน เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิก็จะช่วยทำความเข้าใจกับชุมชน เพราะในช่วงแรกๆคนไข้ที่ต้องรักษาตัวที่บ้านก็ถูกชุมชนรังเกียจ กลัวว่าจะติดเชื้อตามไปด้วย ทาง รพ.สต. ก็ลงไปพูดคุยและดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยดูแลทำให้ชุมชนมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งระยะต่อไปโรงพยาบาลก็วางแผนทำ Community Isolation สำหรับคนที่ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ก็จะนำตัวไปพักรวมกันใน Community Isolation โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าภาพ มีอำเภอร่วมดูแลและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อทำ tele-monitoring เหมือน Home Isolation

162677120088