สธ.หารือ 6 ผู้นำเข้า 'วัคซีนโควิด' วางแผนจัดหา 120 ล้านโดส รองรับการกลายพันธุ์ปีหน้า
สธ.หารือผู้นำเข้า "วัคซีนโควิด" 6 ราย ทั้งชนิด mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย วางแผนจัดหาวัคซีนปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส รองรับการกลายพันธุ์ จะจัดหาให้ประเทศไทยทั้งจำนวนและช่วงเวลาส่งของ ส่วนวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นจะมีการหารือเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หารือร่วมกับผู้แทนนำเข้า "วัคซีนโควิด 19" จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า, บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา, บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม และวัคซีนของบารัต และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนแวค
นายแพทย์โอภาส กล่าวภายหลังการประชุมว่า กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด 19" ในปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้มีการเซ็นสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วันนี้ลงนามสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมีแผนนำเข้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อีกราว 19 ล้านโดส ถือว่านำเข้าได้แล้ว 100 ล้านโดส แต่ยังมีวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันนำเข้า เช่น วัคซีนซิโนฟาร์มโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทำให้ประเทศไทยสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมในภาวะความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนที่มีจำนวนมาก สำหรับปี 2565 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ โดยเชิญผู้แทนนำเข้าวัคซีนทั้ง 6 รายมาหารือ ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี ทั้ง mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งความต้องการวัคซีน 120 ล้านโดส ในปี 2565 และเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับการกลายพันธุ์ได้ ซึ่งผู้แทนวัคซีนทั้ง 6 ราย ได้รายงานความก้าวหน้าในวัคซีนที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น และระบบการซัพพลายมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะจัดหาได้ในช่วงไหน จำนวนที่จะเจรจาซื้อขายได้ในปี 2565 รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่ เช่น การกระตุ้นบูสเตอร์โดส ซึ่งแต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาหารือและเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไป โดยจะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ
นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมยังได้นำผลการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตายที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ ผ่านการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์แล้ว และกำลังจะเริ่มการทดลองระยะที่ 2 มารายงานความก้าวหน้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีถ้าจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศเองได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ โดยต้องรอการศึกษาประสิทธิภาพต่อเชื้อ กลายพันธุ์อีกครั้ง สำหรับการจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่น เช่น โปรตีนซับยูนิต ยังไม่ได้เข้ามาหารือในวันนี้ แต่จะมีการติดต่อหารือเป็นลำดับถัดไป และย้ำว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยียังเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหลักของไทยในปี 2565 ซึ่งมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการ