ส่ง'ผู้ป่วยรายใหม่'กลับ 'ภูมิลำเนา' แก้ปัญหาเตียงเต็มในกทม.ได้จริงหรือ?

ส่ง'ผู้ป่วยรายใหม่'กลับ 'ภูมิลำเนา' แก้ปัญหาเตียงเต็มในกทม.ได้จริงหรือ?

‘ผู้ป่วยรายใหม่’ พุ่งต่อเนื่องวันละ 1 หมื่นกว่ารายส่งผลให้พื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ล็อกดาวน์ เตียงเต็มจนต้องส่งผู้ป่วยกลับ 'ภูมิลำเนา' หน่วยงานรัฐจึงวางระบบการนำส่งผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนา

เพื่อให้การขนส่งผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างการเดินทาง และลดการแพร่เชื้อระหว่างจังหวัด ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิดเดินทางกลับ ภูมิลำเนา อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 

ความพยายามที่ทำให้ระบบบริการสาธารณสุขในกทม.สามารถเดินหน้าต่อไปได้ มีหลายแนวทางเริ่มตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ระบุว่า ผู้ป่วยจะต้องมีอาการคงที่ สามารถเดินทางได้ และจังหวัดปลายทางยินยอมรับกลับ ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด นอกจากนี้ ได้ประสานกับกระทรวงกลาโหม กรมการขนส่งทหารบก , กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย (กรณีมีผู้ประสงค์เดินทางจำนวนมาก) ร่วมวางแผนการเดินทางและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องการเดินทางกลับ ภูมิลำเนา ขอให้โทรแจ้งความจำนงที่สายด่วน สปสช. 1330 (กด 15) จากนั้น สปสช. จะรับผิดชอบประสานงานกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกองทัพบก/การรถไฟฯ เพื่อจัดทำแผนส่งกลับต่อไป ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้จัดระบบแพทย์ให้คำปรึกษาระหว่างการเดินทางเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

  • ลงทะเบียน 'Home Isolation'

นอกจากนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังมีการนำชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit: ATK)ชุดตรวจที่ตรวจได้ด้วยตัวเอง ทราบผลเร็วใน 15 นาที มาตรวจให้ประชาชนแล้ว กว่า 5 หมื่นราย พบได้ผลบวกประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำกรณีผลบวกดังกล่าวไปเทียบกับการตรวจมาตรฐานความผิดพลาดไม่เกิน 3%

“เมื่อตรวจแล้วให้ผลตรวจเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ Home isolation หรือ community isolation หากมีอาการก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป ขณะนี้ได้นำร่องสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม. 200 กว่าแห่ง และศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทั่วประเทศให้ทยอยดำเนินการแล้ว"นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามลิงค์นี้ https://crmsup.nhso.go.th หรือแจ้งสายด่วน 1330 กด 14

  • จ่าย 'ยาสมุนไพร' แก่ผู้ป่วยโควิด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัด ทีมแพทย์แผนไทยใจอาสา แจกจ่ายยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กับน้ำสมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ น้ำสมุนไพรตรีผลา และ น้ำกระชาย เพื่อใช้รักษาอาการโควิด 19 ในระยะเริ่มต้นบ้าน ผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)คาดว่าจะแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยในชุมชนที่มีการแพร่ระบาด จำนวน 2,250 คน

โดยล่าสุดทางกรมได้แจกจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และผู้มีความเสี่ยงต้องกักตัวในบ้านพักอาศัย เทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพร สามารถLINE@DTAM Line @fahdtam Fah First AID ช่องทางการติดต่อข้อมูลสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ครบวงจร

  • ฉีดวัคซีน“ผู้สูงอายุ-7โรคเรื้อรัง”

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิต ได้พุ่งเป้าการให้บริการ ฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้มีน้ำหนักตัว 100 กก.ขึ้นไป เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จะสามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต โดยสามารถลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On Site)เริ่มตั้งแต่วันที่ 23-31 ก.ค. เวลา 13.00-17.00 น. ไม่มีบริการผู้ที่มาก่อนเวลา โดยผู้สูงอายุ 60+ปีขึ้นไปที่มี ภูมิลำเนา อยู่ที่กทม.ใช้บริการ 25จุดของกทม.ได้ และที่สถานีกลางบางซื่อได้ในเวลา09.00-18.00 น.

ผู้ต่ำกว่า 60+ปีให้ลงทะเบียนapplication วัคซีนบางซื่อ กลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ที่มีน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัมขึ้นไปเข้ารับวัคซีน รูปแบบ On-site เวลา13.00 น. - 17.00 น.ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพแข็งแรงสามารถงดเว้นขั้นตอนการวัดความดันโลหิตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กอ.รมน. จัดรถรับ-ส่ง ผู้ป่วย 'โควิด' กลุ่มสีเขียว กลับภูมิลำเนา

                   เช็คความพร้อม ก่อน 'เดินทางข้ามจังหวัด' ไปกักตัว-รักษาโควิด-19

                   เปิด 'ชาวต่างชาติ' 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนโควิด-19

  • ขอปชช.งดออกจากบ้านลด“ระบาด”

สำหรับผู้ผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปรักษาใน ภูมิลำเนา แล้ว ขอให้กักตัวเองจนครบ 14 วัน เพราะขณะนี้เกิดการระบาดต่อเนื่องในหลายจังหวัด ในครอบครัวและชุมชน เนื่องจาก สายพันธุ์เดลตา แพร่รวดเร็ว หากติดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีโอกาสอาการรุนแรงได้

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่าการลดเดินทาง อยู่กับบ้าน ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวหนึ่ง ควรดำเนินการอย่างจริงจัง หากทุกตคนร่วมมือกันดำเนินการอยู่บ้าน ป้องกันคนในบ้าน และสวมหน้ากากตลอดเวลา มาตรการ ล็อกดาวน์ จะสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น คาดว่ายอดติดเชื้อรายใหม่จะลดลงใน 1-2 เดือน ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อต้องการให้ลดลงจนเพียงพอกับขีดความสามารถทางการแพทย์ เตียงรองรับได้ อย่าง กทม.ต้องต่ำกว่า 1 พันราย หรือถ้าต่ำกว่า 500 ราย การล็อกดาวน์ถือว่าได้ผล

ดังนั้น ทุกคนควรเคร่งครัดในการปฏิบัติ คือ

1.ขอให้ทุกคนงดออกจากบ้าน

2.ป้องกันการติดเชื้อคนในบ้าน โดยสวมหน้ากาก แยกกันรับประทานอาหาร แยกที่นอน ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ 

3.ตรวจความเสี่ยงของทุกคนในบ้าน ถ้าเสี่ยงให้ไปตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ใกล้บ้านฟรี 4.ถ้าผลเป็นลบไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ อาจติดเชื้อแต่อยู่ในช่วงฟักตัว ต้องป้องกันตนเองตลอด โดยตรวจซ้ำใน 3-5 วัน ถ้าผลติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ประสาน CCR Team ดูแล หรือติดต่อประสานงาน 1330 สปสช.

  • กักตัวที่บ้านระวังมีปัญหาสุขภาพจิต

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยให้ทำการรักษาด้วยวิธี Home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) หรือ Community isolation (การแยกกักตัวในชุมชน) อาจมีความกังวลมากขึ้น หรือผู้ที่สูญเสียบุคคลที่ตนเองรักหรือสมาชิกในครอบครัวไป ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้อย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตได้ในระยะยาว

กรมสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชนในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด 19 ผู้แยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation)/กักตัวในชุมชน (Community isolation) และผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากวิกฤติการแพร่ระบาด ผ่าน LINE @1323FORTHAI ควบคู่ไปกับระบบสายด่วนสุขภาพจิต 1323