สธ.ปรับแผนใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ใช้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มเสี่ยง
‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ (Favipiravir) เป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งในแต่ละวันต้องใช้ยาประมาณ 3 แสนเม็ดต่อวัน หรือ 9 ล้านเม็ดต่อเดือน
ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ขณะนี้มีผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักหมื่น ดังนั้น มีแนวโน้มต้องการให้ยามากขึ้นเรื่อยๆ
- สธ.ปรับแผนใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ใช้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มเสี่ยง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ปรับแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 พร้อมเปิดแนวทางการให้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เร็วที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
ขณะที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการสบายดี ให้พิจารณา ยาฟ้าทะลายโจร ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ตามรายละเอียดฉบับปรับปรุง วันที่ 21 ก.ค. 2564
โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดจัดทำแผนจัดระบบดูแลการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) รองรับผู้ป่วยโควิด 19 กลับภูมิลำเนา พร้อมจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้แต่ละจังหวัด 2 – 3 หมื่นเม็ดเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2564
ซึ่งในแต่ละวันมีความต้องการใช้ยาดังกล่าว ประมาณ 3 แสนเม็ดต่อวัน หรือ 9 ล้านเม็ดต่อเดือน ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รุนแรงมากขึ้น มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไปถึงหลักหมื่น วันนี้ (24 ก.ค.2564) มีผู้ป่วยรายใหม่ 14,260 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 119 ราย มีกลุ่มคนไข้อาการหนัก 4,099 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 939 ราย ยิ่งมีความจำเป็นต้องการใช้ยามากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว
- เร่งผลิต‘ยาฟาวิพิราเวียร์’2-4ล้านเม็ดต่อเดือน
ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการผลิต วิจัย พัฒนา และผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) เอง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อย และกำลังดำเนินการผลิต ยาฟาวิพิราเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) คาดว่าจะออกสู่ประชาชนในเดือนส.ค.นี้ โดยเบื้องต้นกำลังการผลิตจะผลิตได้ประมาณ 2-4 ล้านเม็ดต่อเดือน ที่โรงงานขององค์การฯ ที่ถนนพระราม 6 และจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่ คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าองค์การฯ ได้มีการพัฒนา ยาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่ประมาณเดือนเม.ย.2563 โดยมีการพัฒนาสูตรตำรับ และมีการตรวจสอบคุณภาพที่ผลิตขึ้น ว่ามีความคงตัวดีหรือไม่ รวมถึงมีประสิทธิผลในการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่นหรือไม่
จากการทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตขึ้น และยาต้นแบบ พบว่า ทั้งความคงสภาพ ชีวประสิทธิผลและชีวสมมูลของยาที่ผลิตขึ้นมีความเทียบเท่ากับยาต้นแบบ ดังนั้น หลังจากนี้ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ได้เอง โดย ยาดังกล่าว จะมีราคาที่ถูกกว่ายานำเข้ามาจากประเทศครึ่งหนึ่ง และมีอายุการใช้งาน 2 ปี
- ป่วย1 รายเริ่มต้นจ่าย 'ฟาวิพิราเวียร์' 70 เม็ด
ผู้ป่วยโควิด 1 ราย จะใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ประมาณ 70 เม็ด ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำหนักของผู้ป่วย และอาการความรุนแรงของโรค ซึ่งก่อนหน้านี้ ยาฟาวิพาริเวียร์ จะใช้กับผู้ป่วยโรค โควิด 19 ที่รับไว้ในสถานพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคระบุให้ใช้กับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเริ่มใช้ยานี้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการบางรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น อายุมาก เป็นเบาหวาน หรืออ้วน เป็นต้น หรือมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ก็สามารถใช้ยานี้ได้ในทันที แต่ต้องใช้อย่างสมเหตุผล หากนำมาใช้เกินจำเป็นจะทำให้ไวรัสดื้อยาได้
โดยการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ทางการแพทย์จะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (กลุ่มสีเหลือง) และผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (กลุ่มสีแดง)
- กทม.เคยจะใช้รพ.สนามแต่โดนค้าน
ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแผนนำ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ยาต้านโควิด-19 แก่ ผู้ป่วยโควิด มาใช้ในโรงพยาบาลสนามให้แก่กลุ่มสีเขียวรายใหม่ กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ทว่ามีคำถามจาก
ชมรมแพทย์ชนบท ว่า ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือไม่? เพราะการให้ยากับคนป่วยทุกคน ผิดหลักการ กระทั่งกทม.ได้ปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด 19 สีเขียว ที่มีปริมาณไวรัสสูง ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลาม หรือ มีอาการรุนแรงขึ้น
ไทยมียาฟาวิพิราเวียร์เหลือ 4,017,781 เม็ด
ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.2564 พบว่า ไทยมียาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 4,017,781 เม็ด และได้มีการจัดหาเฉพาะในเดือนก.ค.นี้ โดยสั่งซื้อไปทั้งหมด 16 ล้านเม็ด และจะทยอยส่งมอบทั้งหมด 4 ครั้ง ดังนี้
วันที่ 17 ก.ค.2564 : ส่งมอบ 3.5 ล้านเม็ด
วันที่ 20 ก.ค. 2564 : ส่งมอบ 3.1 ล้านเม็ด
วันที่ 23 ก.ค. 2564 : ส่งมอบ 5.5 ล้านเม็ด
วันที่ 27 ก.ค. 2564 : ส่งมอบ 4 ล้านเม็ด
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่ายาทั้งหมดเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยในส่วนของเดือนส.ค.-ก.ย. ก็ได้เตรียมแผนจัดซื้ออีกเดือนละ 2 ล้านเม็ด เพื่อพร้อมรับสถานการณ์และสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าว สธ.ก็สามารถติดต่อขอสั่งซื้อกับผู้ผลิตได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :'ยาฟาวิพิราเวียร์' ผลิตในไทยชดเชยได้ 2-4 ล้านเม็ด พร้อมใช้ส.ค.นี้ ย้ำไม่มีขายตามร้านยา
รู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษา 'โควิด-19' ไทยกำลังจะผลิตเองได้
- วิธีใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์" ในผู้ป่วย
สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีชื่ออื่นว่า T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดย บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล
โดยยานี้ เคยใช้รักษา ไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ก่อนจีนอนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 ในแถบอาฟริกาตะวันตก จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย
วิธีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่โดยขนาดการรับประทาน 1,600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันแรก และ 600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน[39] ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึ งต้องรับประทาน (1600 x 2 + 600 x 2 x 4) มก. / 200 มก. = 40 เม็ดต่อคน ผลจากการได้รับยาในปริมาณสูงยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา
ในการศึกษาแรก (โดย Beijing Chaoyang Hospital ร่วมกับ Union Hospital และ Jinyintan Hospital) เริ่มลงทะเบียนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าร่วมในการศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 60 คน
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เพื่อให้ ฟาวิพิราเวียร์ รับประทานวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาที่ทำการศึกษาคือ 1,600 มิลลิกรัม, 1,800 มิลลิกรัม และ 2,400 มิลลิกรัม ให้ยานาน 10 วัน บางการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ กับ lopinavir/ritonavir หรือ baloxavir marboxil ขณะนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์จึงเป็นยาตัวหนึ่งที่เป็นความหวังสำหรับใช้รักษาโควิด-19
นอกจากนั้น ยาดังกล่าวจะมีความเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ ได้รับการยืนยันในการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมีข้อห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ และควรคุมกำเนิดในช่วงเวลาระหว่างได้รับยาจนถึง 7 วันภายหลัง
- ข้อจำกัดการใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’
ว่ากันว่า ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)
สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดย aldehyde oxidase เป็นส่วนใหญ่ และโดย xanthine oxidase เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ
ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น คือ ปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์เมื่อได้รับยานี้ เช่น กรดยูลิคในเลือดสูงขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลลดลง ค่าการทำงานของตัว AST และ ALT เพิ่มขึ้น บางรายอาจมีอาการท้องเสีย
- ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ควรแยกแยะในการใช้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการจดทะเบียนยาและอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษระลอกแรก เนื่องจากมียาจำกัด จึงให้ใช้เฉพาะในราย ปอดอักเสบ รุนแรง การเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่ายานี้น่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรค และใช้ได้ปลอดภัย
ซึ่งในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เอง เพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ ขณะนี้มีแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน อีกทั้ง การใช้ ยาฆ่าเชื้อ ที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง
ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดในกทม.ล้นจนเตียงไม่มี ผู้ป่วยโควิด บางส่วนเดินทางกลับไปรักษาตามภูมิลำเนา ตัวเลขล่าสุดสูงถึคง 3 หมื่นรายแล้ว โดยสปสช.สนับสนุน .ค่าพาหนะให้โรงพยาบาลเบิกค่ารับส่งต่อ ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท, ระยะทางไปกลับ มากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมทั้งค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ โดยจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วย แจ้งความจำนงโดยลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th
ขณะเดียวกันในสนับสนุนให้รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศใช้ชุดตรวจโควิด 19 Antigen Test Kit : ATK แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อความรวดเร็วในการค้นหา และแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่ระบาด นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที
ได้แต่หวังว่ามาตรการที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และช่วยลดการป่วย -ตายจาก“โควิด-19” ลงได้
อ้างอิง: องค์การเภสัชกรรม,สปสช.,รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล,กทม.