วิกฤติ'โควิด19'พุ่งขึ้นทั่วโลก เจาะทางรอดของคนไทย
สธ.เผยโควิด 19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ย้ำออกนอกบ้านเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อไม่รู้ตัว ขอให้ลดการออกจากบ้าน ลดการเดินทางข้ามจังหวัด ป้องกันตนเองสูงสุดลดความเสี่ยงติดเชื้อภายในครอบครัว และฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรง-การเสียชีวิต เผย กทม.ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่
วันนี้ (28 กรกฎาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่จำนวน 16,533 ราย หายกลับบ้าน 10,051 ราย เสียชีวิต 133 ราย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รัสเซีย อังกฤษ สเปน อิสราเอล เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเกิดจากการแพร่ระบาดใน กทม. ช่วงเมษายน 2564 และต่อมามีการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้นตามจังหวัดปลายทาง หากผู้ติดเชื้อประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาขอให้ลงทะเบียนเพื่อจัดบริการรับส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในครอบครัวและชุมชนปลายทาง
“ขณะนี้เชื้อแพร่กระจายเร็ว การติดเชื้อเป็นวงกว้าง การออกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และนำเชื้อกลับมาติดต่อสู่คนในครอบครัวได้ การควบคุมสถานการณ์การระบาดยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในทุกจังหวัด เพื่อลดตัวเลขการติดเชื้อลง โดยขอให้อยู่บ้านมากที่สุด ลดการออกจากบ้าน ลดการเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น โดยขอให้ป้องกันตนเองสูงสุดเสมือนคนรอบข้างเป็นผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อมาสู่ตนเองและไม่ให้เชื้อแพร่สู่ผู้อื่น ด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง กลับถึงบ้านต้องอาบน้ำชำระกายทันที ส่วนการอยู่อาศัยร่วมกันในบ้านยังต้องสวมหน้ากากเว้นระยะห่างระหว่างกัน แยกกันรับประทานอาหาร ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในบ้านด้วย”นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ จึงเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต รวมถึงเน้นการกระตุ้นเข็มสามในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าดูแลรักษาผู้ป่วยได้ สถานการณ์ฉีดวัคซีนภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ฉีดได้ 327,389 โดส ฉีดสะสมรวม 16,427,059 โดส เฉพาะพื้นที่ กทม. ฉีดวัคซีนแล้ว 5,553,406 โดส โดยเป็นการฉีดเข็ม 1 จำนวน 4,540,215 คน คิดเป็นร้อยละ 58.97 ของจำนวนประชากร กทม.ที่มี 7,699,174 คน โดยในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีเป้าหมาย 1,041,828 คน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 798,745 คน คิดเป็นร้อยละ 76.67 ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวมีเป้าหมาย 659,380 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 491,514 คน คิดเป็นร้อยละ 74.54
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้แก่ กทม.ได้ตามเป้าหมาย โดยช่วงมิถุนายน 2564 จัดสรรวัคซีนให้ 1.1 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 1.6 ล้านโดส รวม 2 เดือนจำนวน 2.7 ล้านโดส โดย กทม.เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการกระจายวัคซีนลงจุดฉีดต่างๆ