‘อัลลัน แมคคินนอน’ ทูตออสเตรเลียผู้รัก ‘ภาษาไทย’
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นนักการทูตประเทศไหนก็มักต้องเรียนภาษาประเทศนั้นเพื่อการสื่อสารที่ลึกซึ้งกับประชาชนเจ้าของพื้นที่ จึงไม่แปลกใจหากเอกอัครราชทูตต่างชาติหลายคนพูดภาษาไทยได้ แต่ไม่ใช่กับ “อัลลัน แมคคินนอน” เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย
เขาผู้นี้เรียนภาษาไทยตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาโดยยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งจะได้มาเป็นทูตในเมืองไทย
เนื่องใน วันภาษาไทยแห่งชาติ (29 ก.ค.) กรุงเทพธุรกิจ คุยกับทูตออสเตรเลียถึงเบื้องลึกเบื้องหลังและประสบการณ์สนุกๆ ในการเรียนภาษาไทย เริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ทำไมถึงเลือกเรียนภาษานี้ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า การเลือกเรียนภาษาไทยเรียกได้ว่า “แทบจะเป็นเรื่องบังเอิญ”
"ปริญญาใบแรกที่ผมได้จากมหาวิทยาแห่งชาติออสเตรเลียคือเศรษฐศาสตร์ แต่ผมสนใจเอเชียตลอดมา ทุกอย่างของเอเชียเลยครับ! และผมก็อยากเรียนภาษาเอเชียสักภาษา ซึ่งตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าภาษาไหน พอดีอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์จีนท่านแนะนำว่า ภาษาไทยก็ดีนะ น่าเรียน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเป็นศูนย์การเรียนไทยศึกษาที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ผมก็เลยเรียนภาษาไทย แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้ในหน้าที่การงานเลย จนกระทั่ง 30 ปีต่อมาตอนผมมารับตำแหน่งในไทยนี่ล่ะครับ"
แน่นอนว่าทักษะการสื่อสารทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน สำหรับคนที่เรียนภาษาต่างประเทศย่อมเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่ละทักษะมีความยากแตกต่างกันไป สำหรับทูตแมคคินนอน เขายอมรับ
“การฟังยากที่สุดครับ ถ้าคุณเข้าใจสิ่งที่ได้ยินส่วนใหญ่ คุณก็คุยได้ แต่ถ้าคุณไม่เข้าใจอะไรเลย คุณสนทนากับเขาไม่ได้ ทักษะการอ่านผมใช้ได้ แต่ก็ยังเปิดพจนานุกรมอยู่มาก”
ได้ฟังความยากของท่านทูตแบบนี้ทำให้นึกถึงปัญหาของคนไทยหลายคนที่ฝึกภาษาอังกฤษแล้วพบว่า ฟังไม่ออก แล้วท่านทูตพัฒนาการฟังอย่างไร
“ผมฝึกฝนการฟังด้วยการคุยกับครูคนไทย บางครั้งผมก็ดูภาพยนตร์ไทย ซึ่งก็ช่วยได้ ผมได้ยินคนพูดถึงซีรีส์ใหม่เรื่อง เด็กใหม่ (Girl from Nowhere) กันมาก ก็เลยดูด้วย”
ได้ยินเคล็ดลับอย่างนี้แล้ว ยิ่งตอกย้ำว่า การดูภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศช่วยฝึกทักษะการฟังได้จริงๆ และเมื่อฟังแล้วก็ต้องพูดด้วย โดยเฉพาะการพูดกับเจ้าของภาษา ด้วยนิสัยเป็นกันเองของทูตแมคคินนอน เขามักพูดภาษาไทยกับคนไทยเสมอเมื่อมีโอกาส และเจอเรื่องสนุกพร้อมปฏิกริยาน่ารักๆ จากคนไทย
แต่ประสบการณ์หนึ่งที่เขาไม่ลืมเลยคือ การพูดภาษาไทยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
"แม้จะมีหลายครั้งที่ผมพยายามสื่อสารภาษาไทยกับนายกฯ ประยุทธ์ แต่ท่านก็ไม่เข้าใจภาษาไทยของผม เราต่างคนต่างพูดเร็วแถมยังสวมหน้ากากเสมอ ก็เลยทำให้เข้าใจยาก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมมีประสบการณ์หน้าแตกกับท่านนายกฯ ในงานใหญ่งานหนึ่งซึ่งนายกฯ ต้องขึ้นไปพูดบนเวที เมื่อท่านลงมาก็เดินตรงมาหาผมแล้วทักทาย
ผมทราบล่ะครับว่าท่านทักทายแต่ไม่ได้ยินอะไรเลย เพราะลืมไปว่ายังใส่หูฟังอยู่ เพลงและเสียงประกาศจากบนเวทีจึงดังก้องในหูผม จนกระทั่งท่านนายกฯ เลิกพูดแล้วเดินจากไป ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ยังสวมหูฟังช่องที่มีเสียงเพลงดังมาก พอถอดออกปุ๊บ...เงียบเลย นี่เป็นเรื่องหน้าแตกของผมครับ"
นั่นคือประสบการณ์กับนายกรัฐมนตรี แล้วกับคนไทยทั่วๆ ไปล่ะ
"ประชาชนทั่วไปจริงๆ แล้วเขาชอบมากเลยถ้าคุณพูดภาษาไทยได้ โดยเฉพาะนอกกรุงเทพฯ บางครั้งพวกเขาปรบมือให้ด้วย ครั้งหนึ่งผมเคยไปเยี่ยมชมโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้พัฒนาศักยภาพการเกษตรกรรมระดับชุมชนในเขตพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นทุนช่วยเหลือโดยตรงของรัฐบาลออสเตรเลีย (Direct Aid Program: DAP) ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านตื่นเต้นมากที่เห็นฝรั่งแต่งชุดชาวเขาแถมยังพูดไทยได้ ชอบใจกันใหญ่" ทูตแมคคินนอนเล่าพลางยิ้มพลาง เมื่อรำลึกถึงประสบการณ์สุดประทับใจ
ในเมื่อเรียนภาษาไทยมาขนาดนี้ กรุงเทพธุรกิจ อดถามไม่ได้ว่า คำหรือประโยคไหนในภาษาไทยที่ยากมากสำหรับท่านทูต คำตอบคือ
"คำที่ออกเสียงคล้ายๆ กันชวนสับสนครับ อย่างคำว่า คอย เคย/จาน ชาม/ส้อม ซ่อม/ข่าว ข้าว/ร้าน ล้าน/เต่า เต้า/ขัน คัน/ รวมทั้งโทนเสียง โดยเฉพาะเสียงสูง เป็นความท้าทายมากด้วยครับ และพวกคำพูดและเสียงที่คนไทยใช้กันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อแสดงความเคารพ ความโกรธ เศร้า และอื่นๆ อันนี้ก็ยาก ภาษาอังกฤษไม่มีคำเล็กคำน้อยแบบนี้ จึงยากมากที่คนต่างชาติจะเข้าใจว่า คำๆ เดียวท้ายประโยคสำคัญและมีความหมายมากแค่ไหน"
ไม่เพียงเท่านั้นทูตแมคคินนอนยังพบสีสันกับคำแสลงของไทย อย่างคำว่า “แกง” หรือ “สุดปัง”
“ตอนผมได้ยินคำว่าแกงครั้งแรกผมสับสนมากเลยครับ แกงหรือซุปเนี่ยมาแปลว่าแกล้งกันได้ไง ไม่ได้การล่ะ ผมต้องรีบแชร์ข้อมูลสำคัญนี้ให้คนออสเตรเลียและชาวต่างชาติคนอื่นๆ ได้ทราบ ก็เลยทวีตเปรียบเทียบกับการแกล้งของชาวออสเตรเลีย ตัวอย่างเช่นป้าย ‘ยินดีต้อนรับสู่นครเพิร์ธ’ บนหลังคาตึกใกล้รันเวย์ท่าอากาศยานนครซิดนีย์แกงคนไปหลายคน
ทูตออสเตรเลียกล่าวด้วยว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนภาษาก็เปลี่ยน
"อย่างเมื่อก่อนผมรู้จักสแลง 'เปิ๊ดสะก๊าด' ที่เพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษว่า 'เฟิร์สคลาส' ตอนนี้ไม่มีใครใช้แล้ว มีแต่โอเคนัมเบอร์วัน
หลังจากอยู่ที่นี่มาหลายปีผมพบว่า คนไทยโดยเฉพาะชาวเน็ตมีความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันสุดๆ เหมือนกันเลยกับคนออสเตรเลีย ผมรู้ว่าสแลงไม่ใช่วิธีการพูดที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอไป ต้องใช้ให้ถูกบริบท แต่ในฐานะคนที่รักและศึกษาภาษาและวัฒนธรรมไทย การเข้าใจสแลงเปิดให้ผมเข้าสู่โลกแห่งวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยที่สนุกสนาน”
นั่นคือมุมมองของทูตออสเตรเลียต่อภาษาไทย ในทางกลับกันคนไทยหลายคนรู้สึกว่าภาษาอังกฤษยากมาก บางคนถอดใจไปก่อน สำหรับทูตแมคคินนอนในฐานะคนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แล้วมาเรียนภาษาไทย น่าจะมีคำแนะนำดีๆในการเรียนภาษาอังกฤษให้กับคนไทยได้บ้าง
“ภาษาอังกฤษยากครับ ถ้าจะให้ดีก็ควรหาเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานต่างชาติที่อยากเรียนภาษาไทย และควรเป็นคนที่ใช้ภาษาได้ระดับเดียวกัน แล้วผลัดกันสอนก็สนุกดีครับ การดูภาพยนตร์และข่าวเป็นภาษาอังกฤษก็ช่วยได้”
ปัจจุบันทูตแมคคินนอนยังเรียนภาษาไทยสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง รวมทั้งฝึกฝนด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือและชมซีรีส์ กรุงเทพธุรกิจจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าคะแนนเต็ม 10 ท่านทูตจะให้คะแนนภาษาไทยของตนเองสักเท่าใด
“ผมให้คะแนนตัวเอง 6 เต็ม 10 ครับ เพราะว่าผมพูดกับครูได้ค่อนข้างคล่องแม้แต่เรื่องยากๆ แต่เป็นเพราะว่าครูคุ้นเคยกับภาษาของลูกศิษย์และทักษะการพูดของผมอยู่แล้ว แต่นอกจากครูผมยังสื่อสารกับคนไทยทั่วไปได้ไม่ราบรื่น ซึ่งผมกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้ครับ”
ก่อนจากกันกรุงเทพธุรกิจสอบถามถึงแผนการส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศหลังยุคโควิด ทูตแมคคินนอนย้ำว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศอันหลากหลายสาขาได้รับการส่งเสริมมาต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่ช่วงโควิดระบาด ตั้งแต่ด้านความมั่นคงไปจนถึงการศึกษาและเกษตรกรรม
"เดือน พ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ส่งสัญญาณว่าเรามีความประสงค์กระชับความสัมพันธ์ในทุกสาขาร่วมกัน และความร่วมมือด้านการศึกษานั้นก็สำคัญมากสำหรับเรา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย หรือนักศึกษาออสเตรเลียที่กำลังศึกษาในไทยตามแผนการโคลอมโบใหม่ ไปจนถึงการศึกษาสายอาชีพและอื่นๆ อีกมากมาย ในการนี้สถานทูตของเราจับมือกับเอเชียฟาวเดชัน พัฒนาเว็บไซต์Thailandlearning.org เชื่อมต่อนักศึกษาไทยกับอาจารย์แบบที่เดียวจบ ด้วยทรัพยากรการศึกษาออนไลน์คุณภาพสูงที่สามารถเรียนได้จากที่บ้าน
แม้โควิด-19 ระบาด เรายังเดินหน้าทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดกิจกรรม เช่น ฝึกอบรมออนไลน์ จัดเวิร์กชอป จัดเวทีให้ครูอาจารย์ไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากออสเตรเลีย เมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไป เรารอต้อนรับเพื่อนคนไทยไปเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตในออสเตรเลียอีกครั้ง และนักศึกษาออสเตรเลียกลับมาเรียนในไทยเช่นกันครับ" นั่นคือคำมั่นจากอัลลัน แมคคินนอน ทูตออสเตรเลียผู้รักภาษาไทย