ก้าวไกล ชี้ ข้อกำหนด 'คุมสื่อ' ผิดรัฐธรรมนูญ เร่งเกาะติดการทำงาน 'กสทช.- ดีอีเอส'
ปธ.พัฒนาการเมือง เผย คำสั่ง 'ห้ามเผยแพร่ความกลัว' ขัดรัฐธรรมนูญ สั่ง อนุฯ ต่อต้าน fake news ติดตาม กสทช.- ดีอีเอส ใกล้ชิด
31 ก.ค.2564 นาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงประกาศราชกิจจานุเบกษาข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีผล 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
โดยมีเนื้อหาที่สำคัญก็คือ “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยกล่าวว่า หากพิจารณาถึงถ้อยความในข้อกำหนดข้างต้น อดตั้งคำถามว่ารัฐบาลของนายประยุทธ์ จันทร์โอชากำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือไม่
"ข้อความ "อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว...ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน..." หมายความได้อย่างกว้างขวาง และหมายรวมถึงกรณีที่แม้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง เช่น การที่สื่อมวลชน พี่น้องประชาชนหรือพรรคการเมืองเสนอข้อมูลข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การบริหารวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาล ข่าวผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดโควิด- 19 ก็ไม่อาจนำเสนอได้ ใช่หรือไม่ เช่นนั้นแล้ว ข้อกำหนดที่เขียนด้วยเท้าเช่นนั้น จึงมุ่งหมายที่จะปิดปากสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน และพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวและความโง่เขลาเบาปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นการใช้กฎหมายเพื่อปกปิดความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตัวเอง"
ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า ข้อกำหนดข้างต้น ยังเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เอาไว้ จริงอยู่ที่อาจมีข้อยกเว้นในบางสถานการณ์ แต่การห้ามไม่ให้พูดแม้แต่เรื่องจริง ย่อมไม่อยู่ในข้อยกเว้นนั้นและไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน เพียงแค่ผู้มีอำนาจตีความว่ามีลักษณะเป็น "ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีได้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความกลัวขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยการเอากฎหมายมาใช้ข่มขู่เสียมากกว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากมาเฟียไม่ใช่เป็นพฤติกรรมของรัฐบาลในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
"ในข้อกำหนดข้อต่อมา ที่กำหนดให้สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจในการแจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากที่ใดพร้อมทั้งให้แจ้งรายละเอียดให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นทันที และให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีต่อไป
"ในฐานะกรรมาธิการ จึงต้องการคำตอบว่าเหตุใด กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อกำกับดูแลการบริการการสื่อสารให้เป็นไปได้ด้วยเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงต้องไปเป็นแค่ 'มือ-เท้า' ของรัฐบาลนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการปิดหู ปิดตา ปิดปาก และสร้างความหวดกลัวให้กับประชาชน ทั้งที่ข้อกำหนดข้างต้นมากคลุมเครือจนถึงขนาดว่า ความจริงก็เสนอไม่ได้ กสทช. ต้องพึงระลึกไว้เสมอ หากยอมดำเนินการตาม องค์กรของท่านก็จะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดและความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด -19 และส่งผลให้มีผู้ป่วย ผู้สูญเสีย และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมไปถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ สำนักงาน กสทช. ทำได้โดยทันที โดยไม่ผ่านการตรวจถ่วงดุลโดยองค์กรตุลาการ เช่นนั้นแล้ว กสทช. ก็จะเป็นหน่วยงานที่ใหญ่คับฟ้า ควบคุมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนได้โดยชัดเจน ไม่ต่างจากการปกครองของเผด็จการที่คอยควบคุมความคิดและโฆษณาชวนเชื่อเพียงด้านเดียวของรัฐบาล"
ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ยังกล่าวต่อไปว่า ในห้วงเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน การแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน มีผู้คนล้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน มีคนที่สูญเสียครอบครัวที่รัก มีคนที่สูญเสียโอกาสหรืออนาคตในชีวิต หรือแม้แต่สูญเสียชีวิตของตนเอง การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนและผู้คนในสังคม ไม่ใช่การแก้ปัญหา เช่นนั้นแล้วนานาอารยประเทศที่ผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด–19 มาได้ คงเลือกใช้หนทางเช่นนี้หมด แต่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือการที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ใช้สติปัญญาและอำนาจที่ตนมี แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยคำนึงถึงทุกชีวิตของประชาชน เพราะทุกชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไป ไม่ใช่เพียงตัวเลขบนกระดานนำเสนอข้อมูล แต่คือเลือดเนื้อ คือชีวิต คือความผูกพันธ์ของประชาชนครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง
แทนที่จะปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องรีบดำเนินการคือ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชนว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร รัฐบาลกำลังดำเนินการอะไร และประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงที่เกิดชึ้นในบ้านเมือง ไม่ใช่รับรู้ได้แต่เพียงสิ่งที่ผู้มีอำนาจนำเสนอ เพราะประชาชนย่อมมีวิจารณญาณและใช้ความคิดในการทำความเข้าใจและตัดสินใจว่าจะเชื่อสิ่งเหล่านั้นหรือไม่
การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดจะทำอะไรก็ได้ หากแต่การใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น และต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร
นายณัฐชา ย้ำว่า หากรัฐบาลและผู้มีอำนาจไม่มีสติปัญญามากพอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะมีตัวอย่างให้ศึกษาและปฏิบัติตามจากนานาอารยะประเทศที่กำลังผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยด้วยดีแล้ว การเปลี่ยนม้ากลางศึก ที่ปัจจุบันนี้ ประชาชนก็ไม่มีความแน่ใจว่าเป็นม้าจริงหรือไม่นั้น ก็เป็นทางออกที่สำคัญยิ่งของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความจริงใจ และความเข้าอกเข้าใจถึงพี่น้องประชาชนเข้ามาแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ตนได้มีการมอบหมายให้อนุกรรมาธิการ ต่อต้าน fake news ในคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน ติดตามการทำงานของกระทรวง ดีอีเอส ใกล้ชิด เพื่อติดตามการทำงานคณะกรรมการเฉพาะกิจที่คาดว่าตั้งขึ้นเพื่อการนี้ ในเมื่อท่านกล้าจะตรวจสอบผู้อื่น ในฐานะตัวแทนประชาชนขอตรวจสอบพวกท่านบ้าง จะได้กระจ่างว่า ฝ่ายใดกันแน่คือกระบวนการผลิตข้อมูล ข่าวสารเท็จออกมาสร้างความหวาดกลัวให้พี่น้องประชาชน