ครม.เคาะวันนี้เพิ่มวง 'เงินเยียวยา' รับขยายพื้นที่ 'ล็อกดาวน์' อีก 16 จังหวัด
ครม.เคาะ "เงินเยียวยา" เพิ่มวันนี้ หลังขยาย "ล็อกดาวน์" อีก 16 จังหวัด ให้กรอบวงเงินที่ขออนุมัติไว้ 3 หมื่นล้านไม่เพียพอ ชี้ให้ความช่วยเหลือยังเป็นไปตามระบบเดิมใน 9 กลุ่มอาชีพ และระบบประกันสังคม อาชีพอิสระให้ลงทะเบียน ม.40 รับเยียวยา 500 บาท
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 ส.ค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30)
สาระสำคัญจะปรับปรุงมาตรการการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิดที่เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 13 เป็น 29 จังหวัด
ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจะยังคงเป็นไปตามระบบเดิมที่วางไว้คือ เงินเยียวยา แรงงานและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มอาชีพ ธุรกิจ ในพื้นที่ที่ล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด แบ่งเป็นการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม ม. 33 ม.39 และม.40 ซึ่งในส่วนที่เป็นแรงานนอกระบบกำหนดให้ลงทะเบียนเป็นแรงงานตามระบบประกันสังคมเพื่อรับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลได้วางไว้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากในการขยายพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อควบคุมการระบาด ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในครั้งนี้ขยายไปมากถึง 16 จังหวัด ซึ่งมีหลายจังหวัดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานจำนวนมาก เช่น ในจ.ระยอง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก
สศช.จึงจะเสนอให้มีการขยายกรอบวงเงินที่จะใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อคดาวน์ของ ศบค.จากเดิมที่ขอกรอบการใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวการคลังกู้เงินฯในส่วนของเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ไว้ 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ในบทวิเคราะห์ของ บล.หยวนต้าระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัดไม่ได้กดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัดก่อนหน้านี้ มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันสูงถึง 61% ของจีดีพีประเทศ ส่วนการล็อกดาวน์อีก 16 จังหวัดมีสัดส่วน 17% ของจีดีพีประเทศ
โดยถ้าอิงสัดส่วนของภาคการผลิตที่ราว 80-85% ซึ่งยังสามารถดำเนินการได้เกือบปกติ เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศให้หยุดการผลิตในโรงงาน แต่การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะการหยุดภาคบริการและสันทนาการจะกระทบเชิงลบต่อจีดีพีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะกระทบเดือนละ 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาทต่อเดือน
ขณะที่มาตรการในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อเดือนจึงเสนอแนะให้มีการเพิ่มเงินเยียวยาอีกเดือนละ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือไม่ให้สภาพคล่องหดตัวมากเกินไปในครึ่งปีหลังไม่เเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
สำหรับวาระครม.อื่นๆที่น่าสนใจวันนี้ได้แก่ วาระเพื่อพิจารณา
กระทรวงพัฒนาสังคมฯเสนอขอความเห็นชอบปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ(เทพารักษ์ 4) และเพิ่มกรอบงบลงทุน "โครงการบ้านเคหะสุขเกษม"
กระทรวงการต่างประเทศเสนอ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย(Universal Periodic Review: UPR) รอบที่ 3
- กระทรวงอุดมศึกษาฯเสนอ ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕
วาระเพื่อทราบ กระทรวงดิจิทัลฯรายงานความก้าวหน้าโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน World Expo 2020 Dubai พร้อมทั้งรายงาน ร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
กระทรวงพาณิชย์เสนอรายงานการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Gathering of Cairns Group Ministers)
กระทรวงพัฒนาสังคมฯรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย
- กระทรวงการคลังเสริมรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ
รอบ ๑๒ เดือน ปี ๒๕๖๓ ประจำปี ๒๕๖๓