สุดทางตัน ธุรกิจ 'สายการบิน' โคม่าและฟื้นยาก ระยะสั้น
1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาผลกระทบภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนไปถึงแผนการรับมือของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน บริหารจัดการวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพและขาดองค์รวม
ทำให้การดำเนินนโยบายที่ออกมาเกิดปัญหา “เจ็บแต่ไม่จบ” จนมีผลต่อภาคธุรกิจ “ล้มแล้วลุกขึ้นได้ยาก “ เหมือนธุรกิจสายการบินที่เผชิญอยู่ในขณะนี้
การประกาศ "ล็อกดาวน์" เพิ่มเติมขยายจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัดเน้นลดการเดินทางของประชาชนเพื่อลดการแพร่เชื้อนั้น ทำธุรกิจสายการบินยิ่งลดความคาดหวังการจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะจังหวัดที่เปิดรับการท่องเที่ยวต่อจากภูเก็ต ทั้งกระบี่ -พังงา และ สุราษฎร์ธานี ถูกพับแผนไปเป็นที่เรียบร้อยหลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจสายการบิน เป็นอีกธุรกิจที่ยื่นข้อเสนอความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยการขอซอฟต์โลน หรือ วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับกลุ่ม 7 สายการบิน มาถึง 3 รอบ จากวงเงิน 24,000 ล้านบาท ปรับเป็น 15,000 และล่าสุดเหลือ 5,000 ล้านบาท เพื่อประคองการจ้างงานให้กับพนักงานที่มีจำนวน 2 หมื่นราย
แม้ว่าภาครัฐจะออกตัวว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือ แต่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบจะพยายามหาแนวทางดูแล คาดได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดหากทำให้ไม่ทันการกับสถานการณ์จนทำให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจดิ้นรนปรับตัวตั้งแต่ลดขนาดองค์กร ปรับเส้นทางการบิน หาสภาพคล่องเพื่อต่อลมหายใจไปจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
2 บริษัท ที่ดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายด้วยการยื่นล้ทละลายไปแล้วนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ภาครัฐ เคาะแผนฟื้นฟูด้วยลูดค้าหนี้ที่มีสูงถึง 2.4 แสนล้านบาทเมื่อ วันที่ 29 เม.ย. 2563
จนกระบวนการผ่านประชุมขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าสู่การยื่นแผนต่อศาลให้พิจาณา ส.ค. 2564 และประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ผ่านเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน และในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จใน 5 ปี และต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้งรวมแล้วไม่เกิน 7 ปี
ตามมาด้วยบริษัท สายการบิน นกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แบบรวดเร็วทันใจนักลงทุนจากสัญญาณธุรกิจที่ไม่ดีก่อนหน้าโควิด-19 ทำให้มติของคณะกรรมการเห็นชอบพร้อมยื่นต่อศาลทันทีในวันที่ 30 ก.ค. 2563 ซึ่งศาลได้มีการนัดไต่สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการ ไปแล้วต.ค 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการประชุมเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้น 4 ส.ค. 2564 ซึ่งแนวโน้มผ่านไปได้เช่นกัน
ส่วนที่ยังกัดฟันประคองธุรกิจไปและน่าจับตามอง คือ 2 สายการบิน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ออกมาประกาศ หยุดให้บริการเที่ยวบินสมุย - ภูเก็ต (ไป-กลับ) ตั้งแต่ 3 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ตัดสินใจ ยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวเหลืออยู่ประมาณ 15.5 ปี และสัญญาที่เกี่ยวข้องระหว่างบริษัทกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ได้กำหนดค่าตอบแทนการเลิกสัญญาดังกล่าวที่จะชำระให้แก่กองทุนรวมเป็นมูลค่ารวมเท่ากับ 18,050 ล้านบาท
อีกรายบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่พยายามปรับมาหลายรูปแบบลดต้นทุนบุคลากร Leave without pay ชั่วคราว และขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อผ่อนผันค่าเช่าเครื่องบิน ขอเลื่อนชำระหนี้เงินต้น และขอเพิ่มวงเงินเพื่อนำมาให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับบริษัท
ท้ายที่สุดต้องมีการปรับโครงสร้างกิจการหากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อซื้อหุ้น AAV แล้วออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนเป็นหุ้นไทยแอร์เอเชียแทน อัตราการแลกเปลี่ยนหุ้น (swap) ในอัตราการคืนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นของบริษัทฯ ต่อ 0.098785 หุ้นของไทยแอร์เอเชีย และมาตราการล่าสุดเลื่อนและแบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงานในเดือนก.ค.-ส.ค. 2564 ออกไปเพื่อรักษาสภาพคล่อง
เรียกได้ว่านับเป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ยากลำบากและหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น – วัคซีนยังไม่มีเพียงพอ อาจจะได้เห็นสายการบินที่เหลือทยอยประกาศล้มละลายตามมาอีกเป็นรายที่ 3