'จ๊อบส์ ดีบี' ชี้โควิดระบาดรอบ 4 ฉุดตลาดแรงงานแย่หนัก
โควิด-19 ทำธุรกิจเสียหายมหาศาลและกวาดแรงงานจำนวนมากให้ “ว่างงาน-ตกงาน” สั่นคลอนความมั่นคงด้านรายได้ยิ่งขึ้น ท่ามกลางโรคระบาดถาโถมสู่ระลอก 4 ทิศทางการจ้างงาน แนวโน้มอาชีพรุ่ง-ร่วง เป็นอย่างไร ประชาชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า จากการเกาะติดสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาดระลอก 3 และ 4 พบอัตราการว่างงานไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.96% สูงสุดในรอบ 5 ปี เพราะโรคระบาดทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ผู้ประกอบการลดจำนวนแรงงาน รวมถึงเป็นฤดูโยกย้ายประจำปี ทั้งนี้ อาชีพที่ได้รับผลกระทบสูงสุดหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่วและบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน และร้านอาหาร
ทั้งนี้ อัตราว่างงานที่สูง เมื่อมีองค์กรธุรกิจเปิดรับสมัครงาน จึงพบแรงงานแห่ส่งใบสมัครมากถึง 80 ราย เพื่อชิง 1 ตำแหน่งงาน หรือเพิ่มขึ้น 12% และผู้สมัครส่วนใหญ่ยังมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสายการบินมีการส่งใบสมัครงานค่อนข้างมาก สอดคล้องกับภาวะการว่างงานที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การระบาดของโรคโควิดระลอก 4 ที่ไม่สามารถคาดเดาจุดสิ้นสุดจะเกิดเมื่อใด ทำให้แนวโน้มการสมัครงานต่อ 1 ตำแหน่ง จะพุ่งสูงกว่า 80 รายแน่นอน ส่วนภาพรวมตลาดแรงงานครึ่งปีแรกมีการฟื้นตัว 6.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
“โควิดระลอก3 กระทบตลาดงานไม่มาก แต่ระลอก 4 ยังคาดการณ์ยาก เป็นข้อกังวลที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นประเมินแนวโน้มทั้งปีตลาดแรงงานจะแย่กว่าปีก่อน ซึ่งหากโรคระบาดคลี่คลายได้ปลายปี ตลาดแรงงานอาจฟื้นตัวกลับมาต้นปีหน้า เพราะเป็นฤดูโยกย้ายเปลี่ยนงานพอดี ที่สำคัญหลังหากการคุมโรคระบาดดีขึ้น เศรษฐกิจหรือจีดีพีจะฟื้นตัวกลับมาในอัตราพุ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน ตัวอย่าง สหรัฐเมื่อมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 50% ทุกอย่างเริ่มกลับสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จีดีพีเติบโต 6-7% มีผลต่อการจ้างงาน”
อย่างไรก็ตาม หากโควิดคลี่คลาย สายงานที่คาดว่าจะกลับมาจ้างงานอย่างคึกคัก จะเป็นอุตสสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหารต่างๆ เพราะที่ผ่านมาอยู่ในจุดต่ำสุด หลังจากนี้ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องกลับมาฟื้นฟูธุรกิจเติบโตถล่มทลาย ดังนั้น คนที่ตกงานในสายนี้จึงมีโอกาสจะกลับเข้าสู่ระบบงานอีกครั้ง
ส่วนทิศทางการจ่ายผลตอบแทนหรือค่าจ้าง พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากโควิด-19 ระบาดครั้งแรก ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับตัว ลดการจ้างงาน แก้ปัญหาจากผลกระทบโรคระบาดไปเรียบร้อยแล้ว
“เทรนด์การจ่ายค่าจ้างครึ่งปีแรก มีผลกระทบน้อยกว่าปีก่อน และบริษัทยังไม่ลดคนทันที แต่จะทำการปรับเปลี่ยนเป็นการภายใน เช่น โยกย้ายคนไปอยู่ส่วนต่างๆแทน”
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราว่างงานสูง ทำให้จำนวนการประกาศ “หางาน” ผ่านแพลตฟอร์มจ๊อบส์ ดีบี พบสายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจคิดเป็น 15.3% สายงานไอทีคิดเป็น 14.8% สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0% ส่วนสายงานที่มี “ประกาศงาน” เติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่ สายงานการจัดซื้อคิดเป็น 43% สายงานขนส่ง 37.4% และสายงานประกันภัย 36.4%
นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีความต้องการจำนวนแรงงานและประกาศงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 9.6% กลุ่มธุรกิจการผลิต 6.2% กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง 5.5% เป็นต้น
จ๊อบส์ ดีบี ยังสำรวจความเห็นคนทำงานกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ เกี่ยวกับ “วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน” และ “เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด”พบว่าหลังวิกฤติโควิด คนทำงานปรับตัวกับการทำงานระยะไกลได้ดีขึ้น และกว่า 73% ของคนทำงานเลือกทำงานที่ออฟฟิศสลับกับการทำงานระยะไกล ส่วนความต้องการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลาลดลงเหลือเพียง 7% ด้านปัจจัยหลักที่คนทำงานให้ความสำคัญมากสุดในการเข้าทำงานคือ “อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน” ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และความรู้สึกภาคภูมิใจกับงาน