เช็คช่องทางติดต่อ กลับไปรักษา'โควิด19'ภูมิลำเนา

เช็คช่องทางติดต่อ กลับไปรักษา'โควิด19'ภูมิลำเนา

สธ.เผย 1 เดือน คนติดโควิด19จากกทม.กลับภูมิลำเนาตามระบบแล้วเกือบ 1 แสนราย  ยอดกลับจริงมากกว่านี้  ขอประชาชนประสานก่อนเดินทาง เพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเอง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “การบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา”  นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า ขณะนี้มีการติดโควิด19ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อติดเชื้อก็เดินทางกลับบ้าน สธ. จึงมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมทั้งหมด  ข้อมูลสะสมตั้งแต่ 1 ก.ค.- 4 ส.ค.64 มีผู้ยืนยันติดโควิด-19 ที่เดินทางจาก กทม.และปริมณฑล กลับไปภูมิลำเนาทั่วประเทศ 94,664 ราย เป็นข้อมูลเฉพาะผู้ติดเชื้อในระบบ แต่จะมีคนเดินทางกลับไปมากกว่านี้

        กว่าครึ่งหนึ่งจะอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 ราย เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 ราย เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 ราย และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 ราย ส่วนที่เหลือจะกระจายออกไป ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน จำนวน 4,447 ราย เขตสุขภาพที่ 2 ตั้งแต่ จ.ตาก ลงมา จำนวน 5,125 ราย เขตสุขภาพที่ 3 จ.นครสวรรค์ ลงมา จำนวน 7,515 ราย ขณะที่ พื้นที่ภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 4,711 ราย เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 7,871 ราย เขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 8,691 ราย ส่วนภาคใต้ คือ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 1,424 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 983 ราย

 

 

 

  

นพ.ธงชัย กล่าวว่า การดำเนินการที่ผ่านมา ระยะที่ 1 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเดินทางกลับไปด้วยตัวเอง มีทั้งที่แจ้งและไม่แจ้งข้อมูล ซึ่งเป็นการติดต่อไปยังสถานพยาบาลปลายทาง เพื่อขอกลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือโรงแรม ระยะที่ 2 จังหวัดเริ่มมีมาตรการและกระบวนการของตนเอง เช่น สายด่วนจังหวัดให้ติดต่อไปล่วงหน้า มีการประเมินโดยโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัด ซึ่งคาดว่าตอนนี้มีครบทุกจังหวัดแล้วที่รับผู้ป่วย ระยะที่ 3 ท้องถิ่นช่วยดำเนินการ เช่น จ.เชียงราย สนับสนุนงบประมาณจัดหารถบัสรับผู้ป่วยจาก กทม. ประสานกลับไปที่ภูมิลำเนา และ ระยะที่ 4 นโยบายภาครัฐ สร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายต่างๆ มีความชัดเจนในการส่งผู้ป่วยกลับ เช่น ทางรถไฟ รถบัส เดินทางครั้งละหลายพันราย

"ขณะนี้กระบวนการยังมีอยู่ทุกจังหวัด จึงขอเรียนประชาชนที่ต้องการกลับบ้าน ให้ติดต่อประสานงานล่วงหน้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และเพื่อการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ว่าอาการป่วยอยู่ระยะใด เช่น หากเป็นกลุ่มสีเขียวมีความเสี่ยงน้อย หรือหากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็จะมีการประสานงานก่อนการเดินทาง ยังพบปะปรายว่า มีการเดินทางไปถึงพื้นที่โดยที่ไม่ได้แจ้งข้อมูล ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อตัวท่านเอง และมีโอกาสไปแพร่โรคให้กับคนอื่นในระหว่างการเดินทางหรือเมื่อไปถึงพื้นที่แล้ว" นพ.ธงชัย กล่าว

        วิธีการง่ายๆ คือ ติดต่อไปที่จังหวัดของท่านตามภูมิลำเนา หรือติดต่อไปที่ รพ.ของจังหวัดที่มีเครือข่ายประสานงานต่อได้ หรือประสานกับนโยบายภาครัฐ เพื่อเข้ารับการประเมินก่อนการเดินทาง และเพื่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย หรือสแกนคิวอาร์โค้ด สายด่วน 1330 ต่อ 15 หรือสายด่วน 1669

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า มาตรการดูแลผู้ป่วยเมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา จะมีเจ้าหน้าที่มารอรับ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อแยกความรุนแรงของอาการ เช่น การเอกซเรย์ปอด เมื่อแยกผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสีเขียวผู้ป่วยติดเชื้อไม่มีอาการ มีอาการน้อย ส่วนใหญ่จะเข้า รพ.สนาม ที่ทุกจังหวัดเพิ่มรองรับจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน(community isolation) ส่วนการแยกกักที่บ้าน(home isolation) ในต่างจังหวัดทำได้ยาก แต่ก็จะมีการจัดระบบเข้าไปดูแล 2. กลุ่มสีเหลืองผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง พิจารณารักษาในรพ.ชุมชน และ 3. กลุ่มสีแดงผู้ป่วยอาการรุนแรง ที่สามารถวัดได้จากออกซิเจนปลายนิ้วที่ลดลง หรือมีอาการเหนื่อยหอบ ก็จะรักษาในรพ.ทั่วไป/รพ.ศูนย์ ของจังหวัดนั้นๆ

      “ส่วนใหญ่ที่เดินทางไปจะเป็นกลุ่มสีเขียว มีกลุ่มสีเหลืองบางส่วนและสีแดงก็พอมีอยู่บ้าง แต่ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางกลับบ้านและเราได้ดูแลอยู่ ดังนั้น ภาระตรงนี้ทุกจังหวัดเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่ก่อนหน้านี้ที่ทุกจังหวัด ต้องส่งแพทย์ พยาบาล มาช่วย รพ.หลายแห่งในกทม. และปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มสีเหลืองและแดง และช่วยที่ รพ.บุษราคัม อย่างน้อย 200-300 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยกว่า 3 พันคน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดเตียงผู้ป่วยหนัก อีก 17 เตียง ใช้แพทย์เฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยหนักโดยตรง รวมกับพยาบาลที่ผ่านการอบรมดูแลผู้ป่วย ICU ซึ่งส่วนนี้ก็มาจากพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด”นพ.ธงชัยกล่าว