เซฟกระสุนทุนทางรอดธุรกิจยุคโควิด ‘กูรู’ แนะเพิ่มคุณค่าการตลาด ศาสตร์ชนะใจผู้บริโภค

เซฟกระสุนทุนทางรอดธุรกิจยุคโควิด ‘กูรู’ แนะเพิ่มคุณค่าการตลาด ศาสตร์ชนะใจผู้บริโภค

วิกฤติโควิดทำให้สินค้าและบริการ “เบรก” การทำตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ เพื่อโฟกัส “ยอดขาย” ให้มีรายรับเข้ามาช่วยประคองค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งเป็น “ต้นทุน” ก้อนโต ในเชิงปฏิบัติเน้นหาเงินเข้าบริษัท แต่การเติมอาหารสมองสำคัญ รองรับการขับเคลื่อนธุรกิจระยะยาว

‘SEM One’  หยิบกลยุทธ์ “Value Creation สร้างมูลค่าสินค้า ด้วยคุณค่าทางการตลาดกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอย่าละทิ้งคุณค่าของสินค้าและบริการที่ยังต้องส่งมอบให้ผู้บริโภคอยู่เสมอ ไม่ว่าธุรกิจจะตกอยู่ภายใต้สภาวะดีหรือเลวร้าย 

นันยางแบรนด์รองเท้าอยู่คู่คนไทยมา 68 ปี มีสินค้า 2 เซ็กเมนต์ทำตลาดคือ รองเท้านักเรียน และ รองเท้าแตะช้างดาวที่อาจจะดูเชยบ้าง สินค้าไม่เปลี่ยน เก๋าตั้งแต่รุ่นพ่อยังส่งต่อมาถึงปัจจุบัน  ท่ามกลางผู้บริโภค โลกการตลาด ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ผ่านการปฏวัติอุตสาหกรรมกี่ระลอก แต่สินค้าของนันยางยังครองใจกลุ่มเป้าหมาย ขยายตลาดได้กว้างขึ้น ยอดขายยังเติบโตทุกปีในระดับที่พอใจ มุมมองจาก จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด 

หากมองคุณค่าการตลาดที่แบรนด์ส่งมอบให้ผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ภายในองค์กรที่มีความเชื่อเดียวกันเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของสินค้า ขณะเดียวกันการทำตลาดบริษัทยังให้ความสำคัญกับผู้บริโภคอย่างมาก ยึดมั่นกับการเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นเซ็กเมนต์ให้แม่นคือนักเรียนที่มี 15 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศ หากลงลึกยังเป็นผู้ชาย” 80% แต่บริษัทยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ขยายสู่นักเรียนหญิงและเด็กประถมจึงออกซัพแบรนด์ทั้งนันยาง ชูการ์ นันยางแฮฟฟัน ที่ทั้งสวย นุ่มใส่สบายตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย  

กลยุทธ์ไม่หมดเท่านั้น ยุคโควิด-19 ระบาด ผู้คนตระหนักเรื่องสุขภาพ จึงส่งรองเท้าที่ไม่ต้องผูกเชือกเข้าทำตลาด ซึ่งแก้ Pain point ที่ผ่านมายังมีการออกรองเท้ารุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น เข้าทำตลาด ล้วนเป็นการเพิ่มคุณค่าของแบรนด์นันยาง อย่างไรก็ตาม มิติการตลาด ต่อให้แบรนด์มีคุณค่ามากเพียงใด ย่อมไม่มีประโยชน์หากขายสินค้าไม่ได้  

คุณค่าของแบรนด์คือสิ่งที่เราเก่ง เชี่ยวชาญ หรือเป็นสิ่งคู่แข่งทำไม่ได้ ตลาดไม่มี รวมถึงคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ หากแบรนด์สินค้ามีคุณค่าแต่ลูกค้าไม่ได้ต้องการ การซื้อขายจะไม่เกิดขึ้น   

162856937197

ห้วงวิกฤติโควิด แบรนด์ไม่เพียงส่งมอบคุณค่าแบรนด์ให้ผู้บริโภค แต่ศาสตร์รอดต้องมี จักรพล มองทางรอดผ่าน 3 ด้าน ได้แก่ 1.วิเคราะห์บริษัทตัวเอง สภาพคล่องเป็นอย่างไร ยอดขายต่อวันเท่าไหร่ หากต้องแบกภาระรายจ่ายจะอยู่ได้อีกกี่เดือน 2.ลูกค้ายังซื้อสินค้าหรือไม่ และ3.คู่แข่งขายสินค้าได้หรือไม่ หากคู่แข่งยังขายได้ สะท้อนบลูกค้ายังมีกำลังซื้อ 

นอกจากนี้ โรคระบาดกระเทือนธุรกิจสาหัส จึงแนะ ‘3 เพื่อปรับใช้ ได้แก่ ใจสู้ หากกิจการไปต่อได้ ต้องพลิกทุกกระบวนท่าเพื่อให้ขายได้ จำศีล หรือเป็นโหมดประหยัดทรัพยากร หากลดราคา อัดโปรโมชั่น ลูกค้ายังไม่ซื้อ ต้องประหยัดกระสุนทุนคุมค่าใช้จ่าย และ จุดจบ หรือ Exit หากประเมินสถานการณ์ ไม่ไหวการจบชั่วคราวเป็นทางเลือก รอวันตลาดฟื้น 

เชื่อว่าตอนนี้ธุรกิจ 90% อยู่ในโหมดเอาตัวรอด  หากเปรียบมือถือแบตเหลือ 20% จะปรับสู่โหมดประหยัดพลังงาน ลดแสง ลดฟังก์ชั่น แอ๊พพลิเคชั่นที่กินแบตฯน้อย เพื่อให้มือถือยังใช้งานได้ ธุรกิจก็เช่นกันเป็นโหมดที่ผู้ประกอบการทำทุกทางเพื่อให้รอด

เมธี จารุมณีโรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์อะฮอลิก จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค ย้ำสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นกระทบทั้งโลกไม่แค่ประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติการวางแผน และตัดสินใจเคลื่อนธุรกิจสำคัญมากเพราะเกิดขึ้นรายนาทีรายวัน ขณะที่การปรับตัวเกิดขึ้นเร็ว เดิมผู้ประกอบการอาจใช้เวลาเป็นปีเพื่อรุกอีคอมเมิร์ซ แต่โควิดเร่งให้พลิกโฉมใน 1 เดือน โลจิสติกส์ที่มองแค่การเติบโต ปัจจุบันเป็นกระดูกสันหลังของธุรกิจ เป็นต้น

ระยะสั้นหาสูตรเพื่อรอด แต่แบรนด์ต้องตระหนักการสร้างคุณค่าอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายยอมควักเงินเพื่อแลกเปลี่ยน หรือซื้อสินค้าและบริการ”    และคุณค่าของแบรนด์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้รับ 

162851485552

เมธี เคยทำตลาดให้กับแบรนด์เอสเคทูผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณระดับพรีเมี่ยม ที่ลูกค้ายอมจ่ายแม้สินค้าราคาสูง แต่เมื่อใดก็ตาม ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าราคาแพงไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย จงตั้งคำถามคุณค้าที่แบรนด์มอบให้ลูกค้า เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียมูลค่าลูกค้าที่พึงจะได้รับ

หากต้องการสร้างคุณค่า ต้องตีโจทย์จากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหรือ Who ใครเป็นผู้ที่ความต้องการสินค้าและบริการเชิงลึก แต่ละเซ็กเมนต์พฤติกรรมอย่างไร แล้วหาสินค้าไปตอบสนองหรือ What ปิดที่ How ทำอย่างไรจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้โดนใจ 

หากเริ่มที่ How ทำรูป คอนเทนท์สวยหรูหรา จับใจผู้บริโภค แต่จะไม่มีคุณค่าเลยหากแบรนด์ไม่เข้าใจผู้บริโภค และแบรนด์ที่มีคุณค่าต่อจิตใจ ยังสร้างการจดจำตลอดไป