เศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังปี 2563 จีดีพีไทยติดลบไปแล้ว 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี หลังเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้นเป็นครั้งแรก จนต้องมีการล็อกดาวน์ใหญ่ ปิดประเทศห้ามเดินทางเข้าออก
แต่หลังมีการใช้ยาแรงทำให้สถานการณ์ช่วงปลายปีเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักประชาชนเริ่มออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าปี 2564 ทุกอย่างจะดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะกลับมาสดใสอีกครั้งจากฐานที่ต่ำในปีก่อน
แต่สุดท้ายกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดได้เร็วกว่าเดิมหลายเท่า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากหลักไม่กี่ร้อยคนต่อวัน ขยับขึ้นมาเป็นหลักพัน และหลักหมื่นในที่สุด จนระบบสาธารณสุขแทบจะรับไม่ไหว ทำให้ภาครัฐต้องงัดมาตรการคุมเข้มออกมาใช้อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่คุมเข้มในพื้นที่ 29 ที่มีการระบาดสูง
หากดูจากสถานการณ์เวลานี้ ต้องยอมรับว่าโรคระบาดไม่น่าจะคลี่คลายลงง่ายๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่มีทีท่าจะลดลง แม้จะใช้ยาแรงมาเกือบจะ 1 เดือน
แน่นอนว่ายิ่งสถานการณ์ยิ่งลากยาวออกไป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทยอยปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ และส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบต่ออีกปี
โดยเครื่องยนต์หลักทุกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบจะหยุดนิ่ง มีเพียงแค่ “ภาคการส่งออก” เท่านั้นที่ยังขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงกลายเป็นพระเอกสำคัญที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ
ขณะที่ “การลงทุนภาคเอกชน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟื่องหลัก หลังซบเซามานานนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน ทั้งผู้ประกอบการในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ แถมยังติดขัดปัญหาการเดินทางเข้าประเทศ
แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามาแล้ว 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 60,970 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ 43,040 ล้านบาท, อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 28,160 ล้านบาท, อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร 23,170 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ 20,720 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามาทั้งหมด 403 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 278,658 ล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ทั้งปีที่ 171,160 ล้านบาท นำโดยนักลงทุนจากญี่ปุ่น 42,773 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐ 24,131 ล้านบาท และตามด้วยจีน 18,615 ล้านบาท
เห็นตัวเลขจากบีโอไอแล้วพอที่จะยิ้มออกได้บ้าง สะท้อนว่านักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติยังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งคงต้องติดตามต่อว่าจะลงทุนจริงมากน้อยแค่ไหน และจะเริ่มกลับมาลงทุนเมื่อไหร่ จะปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหน?
เชื่อว่าปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของเอกชนคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดเป็นหลัก ถ้าไทยควบคุมการระบาดได้เร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง คงได้เห็นภาพการลงทุนคึกคักขึ้น เพราะผู้ประกอบการหลายบริษัทพร้อมที่จะลงทุนทันที เนื่องจากที่ผ่านมาได้ตระเตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนหลังเกิดโรคระบาด
แน่นอนว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าไปตั้งโรงงานในจีนต้องการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย เพื่อหนีสงครามการค้า แต่กลับเกิดโรคระบาดเสียก่อน ดังนั้น ถ้าสถานการณ์คลี่คลายเชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ต่างชาติสนใจ
โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า หุ้นกลุ่มนิคมฯ จะพลิกฟื้นกลับมาได้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายและสามารถเปิดเมืองรับต่างชาติได้ แต่ระหว่างรอยังมีรายได้จากค่าเช่า ค่าบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟช่วยหล่อเลี้ยงได้ ขณะเดียวกันหลายบริษัทกระจายธุรกิจไปยังเวียดนามช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย โดยยังคงคำแนะนำซื้อ AMATA, ROJNA และ WHA เพื่อการลงทุน