เคทีซี กำไรไตรมาส 2/64 พุ่ง 46.2% หลังปรับกลยุทธ์ขยายสินเชื่อมีหลักประกันมากขึ้น
บัตรกรุงไทย เฉพาะเคทีซี กำไรไตรมาส 2/64 ที่ 1,680 ล้านบาท โต 46.2%และครึ่งปีแรก 64 3,314 ล้านบาท โต 18.8% หลังโควิดระลอก3 ปรับกลยุทธ์ขยายสินเชื่อมีหลักประกันมากขึ้น "สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม-กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง" ขณะที่ NPL อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ภาพรวมกำไรสุทธิในงบการเงินรวมสำหรับไตรมาส2/2564และครึ่งปี2564 มีจำนวน 1,703
ล้านบาท และ 3,352 ล้านบาท เติบโต 19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัท เคทีซี สำหรับไตรมาส2/2564 จำนวน 1,680 ล้านบาท เติบโต 46.2% และมีกำไรสุทธิครึ่งปี2564 3,314 ล้านบาท เติบโต 18.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา กระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าและการจัดหาลูกค้าใหม่ของบริษัทที่ทำได้ยากขึ้น เป็นผลให้จำนวนบัตรใหม่ที่เข้ามาชะลอตัวลง และส่งผลสืบเนื่องต่อการเติบโตของพอร์ตรวมและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ขยายตัวไม่มากนัก
ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคแบบครบวงจร บริษัทจึงมีแผนสร้างโมเดลธุรกิจที่จะขยายตัวไปยังสินเชื่อมีหลักประกันมากขึ้น อกจากบริษัทจะให้ความสำคัญกับ “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” ที่เน้นในด้านการจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันให้หลากหลายยิ่งขึ้นแล้ว
ในปลายเดือนพฤษภาคม 2564เคทีซีได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ KTBL จำนวนทั้งสิ้น 75,050,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 75.05% ของจ านวนหุ้นทั้งหมดของ KTBL จาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยชำระราคาซื้อขายในสัดส่วน 50% ของราคาซื้อขายหุ้นที่ตกลงกัน ด้วยจำนวนเงิน 297.2 ล้านบาท และบริษัทจะชำระราคาซื้อขายหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งอาจมีการปรับราคาซื้อขายหุ้นต่ำลงหรือสูงขึ้นให้แก่ KTB ภายหลังการตรวจสอบตามเงื่อนไขเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้KTBL ถือเป็นบริษัทย่อยของเคทีซี
ดังนั้นในการวิเคราะห์ผลดำเนินงานตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2564 เป็นต้นไป จะเป็นการอธิบายจากงบการเงินรวมที่รวมบริษัทย่อยแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่างบการเงินรวมปี 2563 ที่นำมาแสดงเปรียบเทียบ จะแสดงเป็นงบการเงินที่ปรับปรุงรายการเสมือนว่าการรวมธุรกิจได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันต้นงวดในงบการเงินในปีก่อนที่นำมาแสดงเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับการรวมธุรกิจภายใต้การควบคุมเดียวกัน ที่ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชี แต่ในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการจะเปรียบเทียบผลดำเนินงานไตรมาสสองปี 2564 นี้ กับ ผลดำเนินงานไตรมาสสองปี 2563 ซึ่งเป็นของเดิมก่อนการปรับปรุงรายการ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบถึงผลการดำเนินธุรกิจตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
ผลการดำเนินงานในรอบครึ่งปี 2564 เคทีซีมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 89,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% (yoy) ส าหรับงวดหกเดือนแม้ว่ารายได้รวมของเคทีซีลดลง -2.5% (yoy) แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายรวมให้ลดลงไป -12.9% (yoy) โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายทางการเงินและมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงไปในอัตรา -6.1% และ -31.3% ตามลำดับ ตลอดจนมีรายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่ดีขึ้น
พอร์ตรวมขยายตัว มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 89,444 ล้านบาท ขยายตัว 7.1%(yoy) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิต 4.6%(yoy) และเพิ่มจากยอดลูกหนี้ตามสัญญาเช่าจาก KTBL มีมูลค่า 4,255 ล้านบาท ที่เข้ามารวมในไตรมาสนี้ ขณะที่เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลลดลงเล็กน้อย -2.5%(yoy)
ด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรขยาย แม้ฐานสมาชิกบัตรลด สำหรับไตรมาสสองและครึ่งปี 2564 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทมีอัตราขยายตัวที่ 13.1% และ 3.9% หรือมีมูลค่า 45,739 ล้านบาท และ 94,160 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 1.7% โดยบริษัทมีฐานสมาชิกบัตรลดลง -4.3% (yoy) หรือมีจำนวนฐานสมาชิกทั้งสิ้น 3.3 ล้านบัญชี แบ่งเป็น บัตรเครดิต 2,544,573 บัตร -2.3% (yoy)และสินเชื่อบุคคลจ ำนวน 802,971 บัญชี-10.0% (yoy )
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงรายเดือนสำหรับไตรมาสสองปีนี้พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน ที่ 38.0% 12.6% และ -0.4% ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัท ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน มีอัตราขยายตัวที่ 41.3% 9.6% และมีอัตราลดลงที่ -3.0% ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา
โดยมี NPL อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม ภายใต้สถานการณ์ที่มีปัจจัยผันแปรมากยิ่งขึ้น จึงเป็นผลให้ไตรมาสสองนี้บริษัทมี สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวมต่อรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงที่ -5.1% (yoy) ทั้งนี้ การที่พอร์ตลูกหนี้มีคุณภาพดี ทำให้ความจำเป็นในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (% ของ NPL) ของบริษัท ในไตรมาสสองเท่ากับ 4.4% เพิ่มขึ้นจากการนับรวมพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจาก KTBL เข้ามา ขณะที่ NPL ของธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 1.5% และ 3.0% ตามลำดับ สูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ซึ่ง NPL ของบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลเท่ากับ 1.4% และ 2.9% ตามลำดับ
ทั้งนี้หากพิจารณาถึงมูลค่าสินเชื่อด้อยคุณภาพเฉพาะของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของบริษัทในไตรมาสสองปี 2564 ที่มีจำนวน 1,678 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสหนึ่งที่มีค่าเท่ากับ 1,661 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 1,598 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงพอร์ตของบริษัทที่ยังคงคุณภาพไม่แตกต่างไปจากเดิม