"ชำนาญ"ร้องประธานก.ต.ค้านตั้ง “อนุรักษ์”นั่งปธ.คดีทุจริตศาลอุทธรณ์

"ชำนาญ"ร้องประธานก.ต.ค้านตั้ง “อนุรักษ์”นั่งปธ.คดีทุจริตศาลอุทธรณ์

"ชำนาญ"ร้องประธานก.ต.ค้านตั้ง “อนุรักษ์”นั่งปธ.คดีทุจริตศาลอุทธรณ์ ระบุผู้ที่จะรับตำแหน่งต้องโปร่งใส ปราศจากเรื่องร้องเรียนคดีประพฤติมิชอบ ชี้เป็นตำแหน่งสำคัญ

นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา กล่าวภายหลัง ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.)และกรรมการกต.เรื่องคัดค้านการแต่งตั้ง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ว่า ตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

 

“คนที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจะเป็นดำรงตำแหน่งนี้ คงไม่เหมาะสม  ควรให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนไปชี้แจงให้เรียบร้อยก่อน ให้ปราศจากข้อสงสัยก่อนและค่อยมาว่ากันอีกที  เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ที่คดีทุจริตจะไปยุติที่ศาลอุทธรณ์” 

 

ส่วนกรณีที่ตนได้ยื่นหนังสือถึง ประธานศาลฎีกา ให้ตรวจสอบเรื่องของแชทไลน์ล็อบบี้ เลือก ก.ต. คนนอกนั้น จนถึงขณะนี้  ประธานศาลฎีกายัง ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าให้ตนเองทราบว่า ดำเนินการตรวจสอบเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วหรือไม่  ส่วนตัวมองว่า เรื่องร้องเรียนอื่นนจะช้าหรือเร็วตนเองก็ไม่ขัดข้อง แต่เรื่องนี้ต้องดำเนินการตรวจสอบโดยด่วน  เพราะหากสอบสวนแล้วได้ความว่ามีการหาเสียงโดยผิดกฎหมาย ก็จะมีผลมากต่อการเข้าสู่ตำแหน่ง ของก.ต.บุคคลภายนอก เป็นอย่างมาก

นายชำนาญ ยังกล่าวอีกว่า  ในการเลือก ก.ต. บุคคลภายนอกผิดไปจากเจตนารมณ์เดิม เพราะเมื่อ 32 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ขณะนั้นมีวิกฤต ก.ต. ผู้พิพากษา ทั่วประเทศไปประชุมกันที่ พัทยา จ.ชลบุรี ตนเอง เป็นผู้เสนอโครงสร้าง ก.ต.บุคคลภายนอก ให้มาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  , ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และนายกรัฐมนตรี  เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน  ให้เข้ามาตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจการทำงานของ ก.ต.อีกที

 

จากนั้น กฎหมายเปลี่ยนให้ ก.ต.บุคคลภายนอกมาจากวุฒิสภา ก็ยังพอไหว เพราะบุคคลที่วุฒิสภาส่งมา ก็ถือว่า เป็นผู้แทนของประชาชน ก็ยังคงเป็นไปตามเจตนารมณ์ดั้งเดิม แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากศาลเห็นว่า  ตำแหน่ง ก.ต.บุคคลภายนอกควรมาจากการเลือกกันเอง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ มองว่าผิดไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม

นายชำนาญ กล่าวต่อว่า สำหรับการแจ้งความดำเนินคดีกับนายอนุรักษ์ ขณะนั้นนายอนุรักษ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็น ก.ต. ได้ร่วมลงมติ เอามติเดิม ที่เห็นชอบให้แต่งตั้งนายชำนาญ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญการพิเศษและสำนักงานศาลยุติธรรม ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วกลับมาทบทวนและกลับมติ ก.ต.เดิมเป็นไม่ให้ความเห็นชอบรวมทั้งลงมติให้นายชำนาญพ้นจากราชการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ

 

โดยมองว่าการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มีความผิดตามมาตรา 112  เป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ  จึงได้แจ้งความในกรณีนี้ที่สน. ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 จากนั้นได้ยื่นร้องไปที่ปปช.ให้ตรวจสอบ และฟ้องศาลให้เพิกถอนมติดังกล่าวด้วย