สนพ. เผย 6 เดือนแรกปีนี้ ยอดใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2.8% คาดทั้งปีเพิ่มเพียง 0.1%

สนพ. เผย 6 เดือนแรกปีนี้ ยอดใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2.8% คาดทั้งปีเพิ่มเพียง 0.1%

สนพ.เผยครึ่งปีแรกยอดใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่ม 2.8% จากเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นปี ประเมินทั้งปีจะเพิ่มเพียง 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออก

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีมาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการใช้น้ำมันในสาขาขนส่ง สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สรุปได้ดังนี้

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 3.9 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 และจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ Work From Home และจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากการขนส่งลดลงในช่วงดังกล่าว การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เนื่องจากการใช้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสแรกของปี 2564 และลดลงอย่างชัดเจนภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3 สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 53.0 เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง น้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวและฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 2563 โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 และภาคครัวเรือน มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ขณะที่ภาคขนส่ง มีการใช้ลดลงร้อยละ 12.0 ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน ประกอบกับข้อจำกัดในการเดินทางตามมาตรการของรัฐ

การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจยกเว้นการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ ตามการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 18.9 ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน อีกทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นข้อจำกัดทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า1 (System Peak) ของปี 2564 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ร้อยละ 45 อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 1.9 จากฐานปี 2563 ที่ค่อนข้างสูงในช่วงล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เริ่มมีฝนตกทำให้อุณหภูมิไม่สูงนัก การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและการใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลงร้อยละ 5.0 จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 อย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก และค่าเอฟที ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 อยู่ที่อัตรา -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ปรับลดลง 2.89 สตางค์ต่อหน่วย จากรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563

162909244766

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.5 เนื่องจาก (1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ (3) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ในช่วง 62 – 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

โดยปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 1.8 ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ขณะที่การใช้น้ำมัน คาดว่าลดลงร้อยละ 5.5 อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564 การใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และ 11.5 ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลงร้อยละ 24.0 ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ