สปสช.ให้อภ.กำหนดคุณสมบัติ-วิธีจัดซื้อ'ATK8.5ล้านชุด'ได้เอง

สปสช.ให้อภ.กำหนดคุณสมบัติ-วิธีจัดซื้อ'ATK8.5ล้านชุด'ได้เอง

เลขาฯสปสช.รับมีหนังสือแจ้งอภ.พิจารณากำหนดคุณสมบัติ-วิธีการจัดซื้อชุดตรวจATKได้เอง ตามบทบาทหน้าที่  ด้านอภ.แจงขั้นตอนจัดซื้อ ขณะที่แล็ปรามาฯยัน ไม่มีชุดตรวจ ATKเทพ  คุณภาพส่วนใหญ่ไล่เลี่ยกัน ขอให้มั่นใจที่อย.ขึ้นทะเบียน

      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ส.คง 2564  ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น “การบริหารชุดตรวจATK” โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564  ให้ สปสช.จัดหาชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ ATK 8.5 ล้านชุด เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจด้วยตนเอง เนื่องจากสถานการณ์โควิด19มีการติดเชื้อจำนวนมาก การเข้าถึงชุดตรวจ เข้าสู่การรักษายังเป็นอุปสรรคของประชาชน จึงมีนโยบายแจกชุดตรวจATKให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงได้มีการตรวจ เพื่อแยกกักและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว

    สปสช.ยืนยันว่า อยากให้ประชาชนได้รับบริการตรงนี้ อย่างไรก็ตาม การจัดชุดตรวจATK ขอยอมรับว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดหาชุดตรวจ ATK เนื่องจากคำสั่ง คสช. ปี2560 กำหนดว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดหา ดังนั้น หน่วยงานที่จะมาจัดหาเมื่อมีความต้องการทั้งยา เวชภัณฑ์ให้สปสช. คือรพ.ราชวิถี และ องค์การเภสัชกรรม(อภ.)

         

 

 

    

ในการจัดหาจึงต้องให้เกียรติ 2 หน่วยงานนี้ในการใช้กลไกของหน่วยงานนั้นในการจัดหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะมีข่าวในการหารือถกเถียงเรื่องคุณภาพ ทางรพ.ราชวิถี และอภ. ได้ถามมาที่ สปสช. เรื่องคุณสมบัติและคุณภาพต่างๆ ในท้ายที่สุด ผมได้มีหนังสือแจ้งกลับไป 2 หน่วยงานว่า เนื่องจาก สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อ จึงขอให้ทางรพ.ราชวิถี และอภ. ได้กรุณาพิจารณาตามบทบาทหน้าที่ของท่าน ทั้งการกำหนดคุณสมบัติ วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้ของเพื่อมาใช้กับประชาชนนพ.จเด็จ กล่าว

       นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากติดตามจะพบว่านพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดอภ. มีดำริให้ตรวจสอบในข้อสงสัยเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่ง สปสช.มีความยินดีใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เรามีคณะอนุกรรมการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ก็มีนโยบายให้ สปสช.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ติดตามผลการใช้ว่ามีคุณภาพอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์ตรวจคัดกรองโควิดที่มีคุณภาพ

 

อภ.แจงขั้นตอนการจัดซื้อ

 นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า  ขั้นตอนการจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ อภ.ได้รับมอบหมายในการจัดหา ATK ซึ่งจะมี 3 กระบวนการ คือ 1. ก่อนจัดซื้อ 2. จัดซื้อ และ 3. ตรวจรับและส่งมอบ ทั้งนี้ ในขั้นตอนก่อนการจัดซื้อจะต้องมีข้อกำหนด และแผนความต้องการจากสปสช. โดยเสนอผ่าน รพ.ราชวิถี แล้วส่งต่อมาที่ อภ. อีกครั้งหนึ่ง โดยแนบข้อกำหนดคุณสมบัติ(TOR) จากสปสช. หรือข้อกำหนดที่ดำเนินการร่วมกัน โดย TOR ที่รับเบื้องต้นจากผู้ใช้งานมานั้น อภ.จะนำมาปรับเป็นข้อกำหนดในการสั่งซื้อตามมาตรฐานของอภ.อีกครั้ง

        เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนจัดซื้อ จะต้องอนุมัติดำเนินการตามข้อกำหนดที่ได้รับแจ้งมา เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อ ซึ่ง อภ.จะมีระเบียบข้อบังคับของอภ.ว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ ที่กรมบัญชีกลางให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ โดยมีการเปิดกว้างว่าหากมีผู้ขายมากกว่า 2 ราย จะดำเนินการคัดเลือก  แต่หากเป็นเรื่องเร่งด่วน จะดำเนินการได้ตามข้อบังคับที่ 11 (2) หากมีผู้ขายรายเดียวสามารถดำเนินการเฉพาะเจาะจงได้ 

และเมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อกำหนด ก็จะเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติเข้ามายื่นเอกสาร เปิดซองราคาประมูล เมื่อได้ผู้ชนะก็จะขออนุมัติในการสั่งซื้อต่อไป ซึ่งอำนาจจะเป็นไปตามวงเงิน โดยหากกรอบวงเงินเกิน 200 ล้านบาท เป็นอำนาจของคณะกรรมการอภ. (บอร์ด อภ.) เป็นผู้อนุมัติซื้อ เมื่ออนุมัติแล้วก็จะลงนามทำสัญญา และดำเนินการส่งมอบต่อไป เข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 เมื่อส่งมอบตามกำหนด ทางอภ.จะตรวจรับและกระจายไปยังหน่วยงานปลายทางตามแผนของสปสช.ต่อไป 

ไม่มีATKเทพคุณภาพเหนือกว่ายี่ห้ออื่น

รศ.นพ.มงคล คุณากร หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รามาฯ เป็น 1 ใน 3 ห้องแล็บที่ทำการตรวจประเมินคุณภาพชุดตรวจ ATK ที่มาขึ้นทะเบียนในไทย ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์คุณภาพ โดยใช้ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยที่มาตรวจ RT-PCR วันละหลายพันตัวอย่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำหนดว่าให้มีตัวอย่างที่มีปริมาณเชื้อไวรัสมากน้อย ต่างกันมาใช้ประเมิน และตั้งเกณฑ์ความไวของชุดตรวจที่จะสามารถขึ้นทะเบียนใช้ได้ต้องให้ผลบวก 90% ของตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้ตรวจ

     ตามเทคโนโลยีของการตรวจ ATK จะเป็นการตรวจโปรตีนของไวรัสที่อยู่ในโพรงจมูก หรือลำคอผู้ป่วยน่าจะตรวจเจอ ก็ขึ้นกับว่าในโพรงจมูกผู้ป่วยมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน หากมีปริมาณมากก็สามารถตรวจเจอได้ แต่ถ้าเทียบกับการตรวจ PCR ที่ใช้ตรวจสารพันธุกรรม แม้เชื้อไวรัสปริมาณน้อยก็ตรวจเจอ แต่พอเป็น ATK เนื่องจากตามเทคโนโลยี เป็นการตรวจโปรตีนไวรัส จึงต้องมีไวรัสปริมารมากๆ ถึงจะตรวจเจอในห้องไวรัสที่ประเมิน ส่วนใหญ่ถ้าทำเทคโนโลยีได้ดี ก็จะตรวจได้ตามเทคโนโลยีนั้น

     “ATKส่วนใหญ่คุณภาพคล้ายกัน สมมติ เมื่อเอา ATK ที่ผ่านเกณฑ์อย. เอามาตรวจกับตัวอย่างผู้ป่วยเดียวกันก็ได้ผลไล่เลี่ยกัน ไม่มีตัวไหนเทพกว่ากัน” รศ.นพ.มงคลกล่าว

       รศ.นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อย.เข้มข้นมากอีกอย่าง คือเกณฑ์ความจำเพาะหรือผลบวกเทียม เนื่องจากเราไม่อยากให้มีผลบวกเทียมเลย เพียงแต่ตามข้อจำกัดของ เทคโนโลยีที่ความไวน้อยกว่า PCR ดังนั้น ATK จึงนำมาใช้ในคนมีอาการสงสัยว่าจะติดโควิด ซึ่งเมื่อมีอาการถ้าตรวจออกมาเป็นลบก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะอาจจะเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยี หรือการสุ่มตัวอย่าง หรือการแยงจมูกแล้วไม่เจอเชื้อก็เป็นไปได้ เพราะมันไม่ได้มีทุกที่ จึงต้องมีการตรวจซ้ำ ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อชุดตรวจจำนวนมากให้มีราคาถูกลง เพื่อประชาชนเมื่อตรวจแล้วได้เป็นลบ แต่ยังเป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อยังสามารถตรวจซ้ำได้ในครั้งถัดไป 

     “กรณีมีรายงานข่าวในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นความจริงว่าในต่างประเทศ เช่น ยุโรปนั้น  ATK ราคาถูกมาก ประชาชนซื้อหลายอัน บางประเทศแจกประชาชนหลายชิ้นต่อ 1 คน เพื่อที่เวลาผลตรวจเป็นลบจะได้ตรวจซ้ำได้  ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพชุดตรวจที่ผ่านการประเมินการขึ้นทะเบียนของอย. ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของอย. ว่ามียี่ห้อใดที่ขึ้นทะเบียนแล้วบ้าง”รศ.นพ.มงคลกล่าว

ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. กล่าวว่า  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหา ชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดในโครงการของสปสช. เพียงแต่ ได้รับการประสานร้องขอให้ช่วยกระจายชุดตรวจไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะส่วนภูมิภาคที่มีหน่วยงานมากกว่าหมื่นแห่ง ตั้งแต่ รพ.จังหวัด รพ.อำเภอ และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทั้งระดับตำบลและหมู่บ้าน ให้ประชาชนตรวจหาเชื้อเองได้ เพื่อการควบคุมป้องกันโรค และเป็นการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ เพื่อวางแผนดูแลผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกให้เข้าสู่การรักษา พร้อมความร่วมมือกับ สปสช. วางแผนการประเมินชุดตรวจในระยะต่อไป ยืนยันว่า สำนักงานปลัดสธ. มิได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหาชุดตรวจครั้งนี้ และเราจะดำเนินการร่วมกับ สปสช. เพื่อให้ชุดตรวจถึงมือประชาชนให้มากที่สุดตามหลักเกณฑ์การตรวจ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า  มีการผูกประเด็นโยงถึงหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 61 หรือ วปอ.61 ซึ่งผู้ที่ชนะการเปิดซองประมูล เป็นคนที่อยู่ใน วปอ.61 ซึ่งชี้แจงว่า  วปอ.ทุกรุ่นจะมีการจัดกิจกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือ CSR (corporate social responsibility :CSR) โดย วปอ.61 มีคณะกรรมการซีเอสอาร์ ที่ทำทุกปีอยู่แล้ว ทั้งนี้ มีการคุยกันในรุ่นว่า ขณะนี้ทาง สธ. มีความต้องการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อควบคุมโรค จึงมีมติขอนำเงินจำนวน 5 แสนบาทต่อปี มาจัดซื้อชุดตรวจ ATK และขณะเดียวกันมีเพื่อน วปอ. จำนวนหนึ่ง บริจาคเงินรวม 1,260,000 บาท เพื่อจัดซื้อชุดตรวจ โดยนำมามอบให้สธ. เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้งานทั่วไป