เปิดโครงการสหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19 มอบถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้งและผลไม้

เปิดโครงการสหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19 มอบถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้งและผลไม้

รมช.มนัญญา เปิดโครงการสหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19 มอบถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้งและผลไม้ บรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้

วันที่ 16 ส.ค.64 ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถ.พิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ “สหกรณ์ร่วมใจ ช่วยแท็กซี่ไทย สู้ภัยโควิด 19” พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมี ดร.ปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายจันทร์ หวนสันเทียะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และตัวแทนสหกรณ์แท็กซี่ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ขับรถแท็กซี่ ที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์แท็กซี่ต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้กับสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ ซึ่งถุงยังชีพประกอบด้วย ข้าวสาร 5 กิโลกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ซอง ปลากระป๋อง 6 กระป๋อง, น้ำมันพืช 1 ลิตร, นมพร้อมดื่มจาก อ.ส.ค. 1 แพ็ค น้ำดื่ม 1 โหล และผลไม้จากภาคใต้ ได้แก่ เงาะและมังคุด จำนวน 1 ตะกร้า

162911599962

ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้โดยสารแท็กซี่ลดลงมากกว่า 50 % ส่งผลกระทบทำให้รายได้ของสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉลี่ยรายได้ต่อวัน 300 – 500 บาท เป็นค่าเติม gas ประมาณ 200 บาท ค่าอาหาร 100 บาท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัว ค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น มีแนวทางใน 2 ด้าน ทั้งในด้านค่าใช้จ่าย ด้านรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คนขับรถบริการ ที่อยู่ในระบบสหกรณ์ ทั้งรถแท็กซี่ สามล้อเล็ก รถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เข้าสู่มาตรา 40 ของกฎหมายแรงงาน ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 5,000 บาท และการเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสหกรณ์นอกภาคการเกษตร โดยจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ช่วงสถานการณ์โควิด


สำหรับปัญหาเรื่องที่จอดรถ ปัจจุบันสหกรณ์มีจำนวนแท็กซี่ที่จอดทิ้งเนื่องจากไม่มีคนขับประมาณ 5,000 คัน ซึ่งในเบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดเตรียมพื้นที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานีและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 1 และ 2 ให้จอดรถชั่วคราว รองรับรถแท็กซี่ได้ประมาณ 200 – 300 คัน นอกจากนี้ยังให้ประสานไปยังกรมธนารักษ์และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือหาที่จอดรถให้เพียงพอกับจำนวนแท็กซี่ ขณะนี้ ได้พื้นที่จอดภายในโรงงานยาสูบ จอดได้ 150 คัน บริษัท CAT เทเลคอม จังหวัดนนทบุรี จอดได้ 120 คัน ที่ซอยเสรีไทย 66 พื้นที่ 10 ไร่ และที่ในเขตหนองจอกสามารถจอดได้ประมาณที่ละ 1,000 คัน และพื้นที่ของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด 300 คัน


ทั้งนี้ สหกรณ์แท็กซี่มีจำนวน 59 แห่ง มีสมาชิก 50,974 คน มีจำนวนรถแท็กซี่ 19,555 คัน ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาช่วยเหลือสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถ ค่าเชื้อเพลิง และค่าเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจ ผลกระทบด้านการชำระหนี้สถาบันการเงิน รวมทั้งขอเข้าร่วมโครงการเยียวยาจากภาครัฐตามมาตรการต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้คาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงาน