'บีทีเอส' ลุ้นอีก 3 คดีสายสีส้ม รฟม.ยื้อเคาะร่างทีโออาร์
ศาลปกครองสูงสุดจำหน่ายคดี “บีทีเอส” ฟ้อง รฟม.ปมสายสีส้ม ด้าน “สุรพงษ์” เผยมีอีก 3 คดี รอศาลพิจารณากรณีปรับหลักเกณฑ์ประมูล-ล้มประมูล ด้าน รฟม.ชี้ติดโควิดเลื่อนนัดประชุม ม.36 คลอดทีโออาร์ใหม่
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2564 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เเละการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครอง
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ไปแล้ว
มติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหานี้ได้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครอง (อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาเพราะเหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไป) บีทีเอสในฐานะผู้ยื่นฟ้องรับทราบข้อพิจารณาดังกล่าว
“ศาลตัดสินไม่เหนือความคาดหมาย เรายื่นอุทธรณ์เรื่องนี้เพราะต้องการให้ปรากฏในชั้นศาล เนื่องจากการพิจารณาของศาลชั้นต้นพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว และทาง รฟม.ก็ยังเดินหน้าต่อ จนกระทั่งมีการพิจารณาจำหน่ายคดี เราเลยต้องยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการศาลที่สามารถดำเนินการได้”
บีทีเอสลุ้นศาลอีก3คดี
อย่างไรก็ดี การยื่นฟ้องระหว่างบีทีเอส และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ รฟม.เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 คดี ประกอบด้วย
1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงข้อมูล
2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวน
กมธ.ตรวจสอบประมูล
รายงานข่าว เปิดเผยว่า นอกจากกระบวนทางกฎหมายที่บีทีเอสยื่นฟ้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา และยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ดำเนินการโดย รฟม. ขณะนี้ยังมี คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทยเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินโครงการนี้ด้วย
“ช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้เริ่มเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง รฟม.และบีทีเอส ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน และการยกเลิกประกวดราคา รวมทั้งยังเรียกหน่วยงาน และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปเพิ่มเติม คาดว่าเร็วๆ นี้ น่าจะมีผลการพิจารณาเรื่องนี้ออกมา”
รอคลอดเอกสารประมูลใหม่
รายงานข่าวระบุว่า ความคืบหน้าของการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นั้น ขณะนี้พบว่า รฟม.ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ภายหลังจากเปิดรับฟังความเห็นไปแล้ว และยังไม่มีการนัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 เพื่อพิจารณาทีโออาร์ใหม่ โดยให้เหตุผลว่ายังติดปัญหาโควิด 19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถนัดประชุมคคณะกรรมการ ม.36 เพื่อพิจารณาทีโออาร์และประกาศประกวดราคา
ก่อนหน้านี้ รฟม.เคยประเมินว่าหลังจากยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไปแล้ว จะดำเนินการออกเอกสารการประมูลใหม่ โดยจะเปิดให้มีการรับฟังความเห็นและเปิดขายเอกสารในเดือน เม.ย.2564 และให้เวลาเอกชนเตรียมข้อเสนอ 60 วัน หลังจากนั้นให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ซึ่งกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน มิ.ย.2564 เข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง มิ.ย.-ก.ค.นี้ หากแล้วเสร็จภายใน ก.ค.ก็จะเสนอคณะกรรมการ ม.36 และเสนอ ครม.ภายในเดือน ส.ค.2564
สำหรับการประมูลรถไฟสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 142,789 ล้านบาท ต้องยุติลงเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เห็นชอบให้ล้มการประมูลวันที่ 3 ก.พ.2564 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ
1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์
2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม
ในขณะที่การประมูลรอบแรกมีผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย