‘ดอน’ ถก ‘อนุทิน’ ปูแผนผลิต ‘วัคซีนไทย’ mRNA ชาติแรกในอาเซียน
กระทรวงการต่างประเทศ ผนึกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับปัจจุบัน และอนาคต ชี้หากไทยพัฒนาวัคซีน mRNA สำเร็จจะเป็นชาติแรกในอาเซียน เห็นพ้องวางแผนล่วงหน้ากระบวนการผลิตวัคซีนไทย
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการหารือระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมด้วย อาทิ กรมการกงสุล กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19
นายธานี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยืนยันจะร่วมมือจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้พอต่อความต้องการในปัจจุบันและอนาคตด้วย โดยนายอนุทิน ยืนยันว่า สามารถจัดหาวัคซีนได้แล้ว 100 ล้านโดสในปีนี้
ด้านนายดอน ให้ข้อสังเกตว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลอาจกระทบต่อไทยบ้าง แต่เชื่อมั่นว่า ด้วยพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของไทย เราจะสามารถฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีในด้านดังกล่าวให้กลับคืนมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถาบันวิจัยของไทยประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน mRNA เป็นชาติแรกในอาเซียนและในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงขอสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน ในการเตรียมการล่วงหน้ากระบวนการผลิต “วัคซีนไทย” รวมถึงกระบวนการสั่งจอง การบริหารจัดการ ตลอดจนแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งหลายสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังได้หารือเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับพี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และครอบคลุมทุกกลุ่ม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก (Global Public Goods)
นายอนุทิน กล่าวยืนยันการจัดให้คนต่างชาติในไทยเข้าถึงวัคซีนผ่านการลงทะเบียน Expatvac จัดการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงแรงงานต่างชาติที่กระทรวงสาธารณสุข จัดให้ผ่านนายจ้างด้วย
อย่างไรก็ตาม การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้นับเป็นการหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองกระทรวงเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการการทำงานระหว่างสองหน่วยงานเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ