บอร์ดแข่งขันการค้าจับตาควบรวมธุรกิจไซส์เล็ก

บอร์ดแข่งขันการค้าจับตาควบรวมธุรกิจไซส์เล็ก

ปธ.กขค.เผย ยอดครึ่งปีแรกแห่แจ้งควบรวมธุรกิจคนไทยไซส์เล็กกว่า 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เล็งแก้กม.แข่งขันทางการค้าดูแลการควบรวมแบบแนวตั้ง

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนาประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)หรือบอร์ดแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังจับตาการควบรวมธุรกิจ เนื่องจากพบว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาการแจ้งการควบรวมธุรกิจกว่า20ราย ซึ่งเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เพราะทางกขค.ไม่คาดคิดว่าจะมีจำนวนมากขนาดนี้แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางกขค.ได้ประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการควบรวมธุรกิจมากขึ้นภายหลังที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19เนื่องจากธุรกิจจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจนั้นๆ แต่ยอดการควบรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกเหนือกว่าที่ประเมินไว้มาก ทั้งที่ปกติกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยควบรวมธุรกิจกันมากนัก 

ทั้งนี้การแจ้งการควบรวมธุรกิจ ดังกล่าวไม่เข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาด จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเหมือนกรณีของการควบรวมธุรกิจของบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด กับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด โดยธุรกิจที่แจ้งการควบรวมเป็นธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน1พันล้านบาท และไม่มีส่วนแบ่งการตลาดหรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาด ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่50% ขึ้นไป และการรวมธุรกิจ3ที่มีส่วนแบ่งตลาด ในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่75%ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาแต่ละรายตั้งแต่1,000ล้านบาทขึ้น 

  “แปลกใจว่า ทำไมมีการแจ้งรวมธุรกิจแบบก้าวกระโดด ซึ่งการแจ้งขอควบรวมธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เทคโนโลยีกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยทางบริษัทที่แจ้งควบรวมมีเจ้าของเป็นคนต่างชาติเกือบทั้งสิ้น ” 

นายสกนธ์ กล่าวว่า การรวมธุรกิจแบบนี้มีลักษณะเป็นการรวมธุรกิจแบบแนวตั้ง คือ การควบรวมของธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply chain) เพื่อวัตถุประสงค์ เช่น ส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินกิจการแบบครบวงจร ลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะมีมากขึ้น แต่กฎหมายของเรายังไม่มีความชัดเจนในการกำกับดูการควบรวมธุรกิจแบบแนวตั้ง ทางกขค.จึงเตรียมที่จะปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในเรื่องของการรวมธุรกิจเพื่อมาดูแลโครงสร้างระบบการควบรวมธุรกิจแบบแนวตั้งและแนวนอน 

             

 

              

นายสกนธ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ากรณี 37องค์กรผู้บริโภคที่ยื่นต่อศาลปกครองกรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้กลุ่มซีพีควบรวมกิจการกับเทสโก้ โลตัส ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคำสั่งของกขค.นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งยังมีคำร้องอีก 2 ข้อที่ศาลปกครองกำลังพิจารณาคือ เพิกถอนคำสั่งของกขค. ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจ และ 2. หากศาลไม่มีคำพิพากษาหรือคิดสั่ง ก็ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรมให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจปฏิบัติตาม โดยศาลปกครองให้ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ส่งข้อมูลคำชี้แจงเพิ่มเติมให้ศาลพิจารณา ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลปกครองจะพิจารณาเสร็จเมื่อไร 

  สิ่งที่ทางกขค.ต้องทำในขณะนี้นี้คือการบังคับให้กลุ่มซีพีปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดไว้ โดยทางกลุ่มซีพีก็ดำเนินการตามเงื่อนไขที่วางไว้ ทั้งการส่งจำนวนเอสเอ็มอีก่อนและหลังการควบรวม เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับกขค.ในการกำกับดูแลเงื่อนไข ส่งข้อมูลจัดทำcode of conductเผยแพร่ต่อสาธารณะ การทำสัญญากับซัพพลายเออร์ก็ได้มีการทยอยส่งให้ให้กขค.บ้างแล้ว เป็นต้น