'แพทย์ชนบท' ร่อนจดหมายถึง 'นายกฯ' ซื้อ ATK มาตรฐาน WHO
ความคืบหน้าการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด หลังเกิดข้อขัดแย้งความเห็นไม่ตรงกันระหว่างแพทย์ชนบทและองค์การเภสัชกรรม ในเรื่องของสเป็คชุดตรวจATK ล่าสุด ทางแพทย์ชนบททำจดหมายเปิดผนึกส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชบท ได้โพสต์เฟสบุ๊คว่า นานแล้วที่ผมไม่ได้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเนื้อหาระบุว่าด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่มีการระบาดกว้างขวางทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด การควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้จึงต้องการการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เร็วด้วย ATK (Antigen Test Kit) เพื่อจะได้แยกกักรักษาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการป่วยหนักและลดความต้องการเตียงของโรงพยาบาลที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่พบว่าการสนับสนุนชุดตรวจ ATKสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆนั้นยังเป็นไปอย่างจำกัด จึงเป็นที่มาขอการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดของ สปสช. ซึ่งโดยความตั้งใจเดิมนั้น เป็นการจัดซื้อเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในสถานบริการและการตรวจเชิงรุกเป็นสำคัญ
ชมรมแพทย์ชนบทและวิชาชีพสุขภาพในโรงพยาบาลต่างๆ ต่างมีความชัดเจนเช่นเดียวกับรัฐบาลที่เห็นร่วมกันว่า ประเทศไทยต้องใช้ ATK ในการคัดกรองแยกโรคเบื้องต้นทั้งในโรงพยาบาลและการตรวจเชิงรุกโดยบุคลากรทางการแพทย์ โดยควรต้องใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองก่อน หากเจอผลบวกจึงตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของการทำ RT-PCR ลงได้อย่างมาก
ตัวอย่างเช่น หากอัตราการติดเชื้อเท่ากับ 10% นำกลุ่มเสี่ยงมาตรวจ 1,000 คน เดิมต้องเสียค่าตรวจ RT-PCR คนละ 1,800 บาท เป็นงบทั้งสิ้น 1,800,000 บาท แต่หากใช้ ATK คัดกรองก่อนทั้ง 1,000 คน ค่าตรวจ ATK รายละ 130 บาท(รวมค่าตรวจ) จะเป็นเงิน 130,000 บาท ทั้งนี้จะพบผู้ติดเชื้อ 100 คนที่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งใช้งบอีก 180,000 บาท รวมแล้วใช้งบทั้งสิ้น 310,000 บาท หรือสามารถลดงบต่อการคัดกรอง 1,000 คนได้ถึง 1,490,000 บาท หรือลดลงถึง 82.8% นอกจากจะลดงบประมาณแล้ว ยังลดภาวะคอขวดในการรอทำ RT-PCR ช่วยให้เริ่มการรักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น และลดการแพร่ระบาดได้อีกด้วย ดังนั้นหากรัฐบาลจัด ATK ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ 8.5ล้านชิ้น จะลดงบที่ค่าตรวจ RT-PCR ได้นับหมื่นล้านบาท
แต่การนำ ATK มาคัดกรองตรวจกลุ่มเสี่ยงนี้ ปัจจัยที่สำคัญมากคือ คุณภาพและความแม่นยำของ ATK เอง ที่ต้องได้มาตรฐานระดับที่องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นรายการ EUL (Emergency Use Listing) รับรองไว้
ชมรมแพทย์ชนบทขอยืนยันว่า การจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดนั้น เป้าหมายในการจัดซื้อครั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ใช้ ซึ่งดูได้จากการที่ สปสช. ได้มีการตั้งงบค่าตรวจสำหรับสถานพยาบาลไว้ด้วยที่รายละ 10 บาท เป็นเงิน 85 ล้านบาท บวกอีก 11 ล้านบาทที่เป็นค่าตรวจของชุดตรวจจาก Abbott ที่ทางรัฐบาลสวิสได้บริจาคให้ 1.1 ล้านชิ้น และท่านรัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เป็นผู้ของบสำหรับ ATK ของ Abbott สำหรับโอนให้โรงพยาบาลที่ทำการตรวจATKจากสวิส พร้อมกับ ATK 8.5 ล้านชิ้นด้วย
ชมรมแพทย์ชนบททราบว่า มีความพยายามจะขอแก้มติคณะรัฐมนตรีที่จะให้ตัดคำว่า มาตรฐานองค์การอนามัยโลกออกไป ซึ่งชมรมแพทย์เห็นว่า ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 นั้น ถูกต้องและสอดค้องกับการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตโควิดแล้ว
ชมรมแพทย์ชนบทมีความเห็นที่ขอเสนอแนะต่อรัฐบาลในการสู้ภัยโควิดอันเกี่ยวเนื่องกับการตรวจ ATK ดังนี้
1. ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ยืนยันในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้การจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น เป็น ATK ที่ต้องมีมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพื่อเป็น ATK สำหรับ professional use ในสถานพยาบาลและการตรวจเชิงรุก ทั้งนี้เพราะราคากลางที่ สปสช.ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 120 บาทนั้น ย่อมไม่ใช่ ATK แบบ home use สำหรับประชาชนทั่วไป ประกอบกับ ATK ที่ผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลกนั้น องค์กร UNICEF เพิ่งได้จัดซื้อไปในราคา 5 USD/ชุด หรือราว 160 บาท ดังนั้นการที่คณะกรรมการต่อรองราคาของ สปสช.สามารถต่อรองจนเหลือชุดละ 120 บาทนั้น ถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าที่ UNICEF ซื้อและมีคุณภาพระดับสากลแล้ว และทางองค์การเภสัชกรรมเองก็ยังสามารถยกเลิกการประมูลครั้งนี้ได้โดยที่ภาครัฐไม่ได้เสียหาย แล้วจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงตามที่กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียนตาม ว.115 และ ว.120 ต่อไปได้โดยไม่ชักช้า
2. สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่มุ่งหวังการเปิดประเทศด้วยการให้ประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเอง ( home use ) ทางชมรมแพทย์ชนบทมีความเห็นว่า ราคาขายในร้านสะดวกซื้อในยุโรปและอเมริกานั้น ราคาขายปลีกอยู่ที่กล่องละ 1 USD ซึ่งปกติจะมีกำไรประมาณ 30% ดังนั้น หากทางรัฐบาลหรือ สปสช.จัดซื้อจำนวนมากหลายสิบล้านชิ้นต่อล็อคการจัดซื้อ ย่อมสามารถซื้อได้ที่ราคาต่ำกว่า 0.75 USD อันจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณของประเทศได้อย่างมาก และได้สินค้า ATK ที่มีคุณภาพสมกับราคาที่ไปด้วยกัน
ชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขอแก้ไขมติ ครม.เกี่ยวกับการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้นให้ยกเลิกคำว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกจะไม่เกิดขึ้น และหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจถึงความตั้งใจของชมรมแพทย์ชนบทและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการ ATK คุณภาพสูงเพื่อมาการคัดแยกผู้ติดเชื้อ ลดคอขวดของการตรวจ RT-PCR เพื่อให้วิกฤตโควิดคลี่คลายให้มากที่สุด เพื่อการเปิดประเทศใน 120 วันจะได้เป็นจริง