'อีอีซี' - 'จีบีเอ' ผนึกลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจหลัง 'โควิด'
ประเทศไทยและประเทศจีนมีความร่วมมือผลักดันการลงการเชื่อมระหว่างไทยกับ Greater Bay Area หรือ GBA ที่ประกอบด้วยมณฑล กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า มาตั้งแต่ปี 2562 โดยล่าสุดมีความคืบหน้าในการประชุมร่วม ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อสานต่อความร่วมมือ
ล่าสุดมีการประชุมความร่วมมือระดับสูงไทย-กวางตุ้ง (High Level Cooperation Conference : HLCC) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “Stronger Strategic Synergy between GBA and the EEC for a Better Future” เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 เพื่อผลักดันความร่วมมือกันมากขึ้น
การประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานร่วม และฝ่ายจีนมี “หม่า ซิงรุ่ย” ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วมในการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
รวมทั้งการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือ 2 ฝ่าย คือ วีรชัย มั่นสินทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,โจว ย่าเหว่ย สมาชิกถาวรพรรคคอมมิวนิสต์จีน นครกว่างโจว (เทียบเท่ารองนายกเทศมนตรีกว่างโจว) ,เถา หย่งซิน รองนายกเทศมนตรีเซินเจิ้น และ จู เหว่ย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกวางตุ้ง และสำนักงาน GBA
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การประชุม HLCC ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ GBA ของจีน ซึ่งประกอบด้วยมณฑล กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่าง EEC กับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้การเชื่อมโยงของ EEC และ GBA มีทั้งการเชื่อมโยงในเชิงกายภาพ การเชื่อมโยงฐานการผลิตที่มีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันโดยความพร้อมในเรื่องการลงทุนที่ใน EEC มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ด้าน โดยใน 3 คัสเตอร์ที่เห็นว่าทั้ง 2 พื้นที่มีการสนับสนุนและมีโอกาสในการเติบโต ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัล และ 5G
ส่วนการลงทุนในะอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่ กวางตุ้งมีศักยภาพ EEC มีการส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV 2.อุตสาหกรรมดิจิทัลและ 5G 3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG (Bio-circular-Green)
“สุริยะ” ได้เสนอให้เร่งรัดการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมทั้งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและ 5G โดยสามารถสร้างความเชื่อมโยงทางนโยบายและตั้งคณะทำงานร่วมกันมาผลักดันความร่วมมือใน 6 ประเด็น ได้แก่
1.อุตสาหกรรมสมัยใหม่ 2.เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน 3.การเกษตร 4.วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ 5.การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น 6.ความร่วมมือด้านอื่น อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน
รวมทั้งในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายมีความยินดีที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับสำนักงาน GBA และเขตนำร่องการค้าเสรีของกวางตุ้ง
ส่วนความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ได้มีการชี้แจงให้มณฑลกวางตุ้ง ได้เห็นถึงความก้าวหน้า ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งแต่ละโครงการถือว่ามีความคืบหน้าไปมากและจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมทั้งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน EEC
รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G และชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของ EEC ในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการรองรับการลงทุนในอนาคต และได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่าง EEC และ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทยมายังปลายทางที่ EEC โดยมีแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ที่จะเชื่อมโยงกับ ท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มผลักดันท่าเรือบกแล้ว
ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามันในอนาคต โดยเชื่อมโยงผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป และมีโอกาสที่จะการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภาที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของ EEC ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่กำลังดำเนินการ
ทั้งนี้ EEC และ GBA มีความเห็นตรงกันที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เพื่อให้มีความร่วมมือและสามารถประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยจะเป็นการเจาะลึกถึงการลงทุนในกิจการและอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมถึงเป็นการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเชื่อมโยงภาคการผลิตและการพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน