TH รุก'ธุรกิจบริหารหนี้'เต็มสูบ ตั้งเป้าปี65-66 ซื้อหนี้ 6 พันล้าน/ปี
TH เดินหน้า รุก"ธุรกิจบริหารหนี้" ตั้งเป้าปี 65-66 ซื้อหนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 พันล้าน ล่าสุดชนะประมูลแล้ว 3 พันล้าน แจงอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ"บริหารหนี้ที่มีหลักประกัน" เล็งดัน "บริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว"จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายสมนึก กยาวัฒนกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมรุกขยายธุรกิจบริหารหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ต่อเนื่อง เพราะบริษัทมองเห็นโอกาสธุรกิจบริหารหนี้จะมีการเติบโตสูง จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้สถาบันการเงินมีการนำหนี้ด้อยคุณภาพออกมาประมูลขายมากขึ้น
ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทย่อย บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจการบริหารหนี้ และติดตามทวงถามหนี้ ชนะประมูลหนี้ด้อยคุณภาพ (ชนิดไม่มีหลักประกัน) จากสถาบันการเงิน มูลหนี้จำนวน 3,045 ล้านบาท ซึ่งจะมีการทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินในวันที่ 31 ส.ค. นี้โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวในไตรมาส4ปีนี้ และมีแผนที่จะเข้าประมูลซื้อหนี้เพิ่มต่อเนื่องในปีนี้ หากมีสถาบันการเงินเปิดประมูลขายหนี้
นอกจากนี้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว มีแผนที่จะเข้าประมูลหนี้ที่มีหลักประกันเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งหากบริษัทได้รับอนุมัติแล้ว มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว เป็น 300 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีจำนวน 100 ล้านบาท
ทั้งนี้จะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว ประมาณ10-15% ซึ่งพันธมิตรดังกล่าว เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ เพื่อเพิ่มความความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ โดยพันธมิตรรายดังกล่าวไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
"บริษัทมีแผนที่จะยื่นตลาดหลักทรัพย์ เพื่อย้ายหมวดการซื้อซื้อขายหุ้นจากสื่อและสิ่งพิมพ์ มาเป็นหมวดการเงิน เพราะผลการดำเนินงานปัจจุบัน มาจากธุรกิจการเงินอยู่แล้ว ทั้งจากธุรกิจของ ตงฮั้ว แคปปิตอล และตงฮั้ว แอสเซท"
สำหรับในปี 2565-2566 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว ตั้งเป้าเข้าประมูลซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนในการซื้อหนี้จะมาจากการสนับสนุนของบริษัทแม่ คือ TH ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสดประมาณ 1,000 ล้านบาท และเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ ทำให้สามารถที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงบริษัทได้รับอนุมัติให้ออกหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนให้กับบริษัทย่อยในการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้นทำให้ในช่วง 3-4 ปีจากนี้ ธุรกิจบริหารหนี้ฯลฯจะสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัท และบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัท บริษัทบริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันมีบริษัทในลักษณะนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 บริษัทคือ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)หรือ JMT และ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือCHAYO
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. ราคาปิดตลาดของ JMT อยู่ที่หุ้นละ 43 บาท และราคาปิดหุ้น CHAIYO อยู่ที่หุ้นละ 12.90 บาท ส่วนราคาปิดหุ้นของ TH อยู่ที่ราคาหุ้นละ 2.12 บาท
นอกจากธุรกิจใหม่ในการบริหารหนี้แล้ว บริษัทมีแผนทำธุรกิจใหม่ด้านไอทีเพิ่ม ซึ่งเมื่อกลางเดือนก.ค.2564 บริษัทได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ บริษัทหนังสือพิมพ์ ตงฮั้ว จำกัด เป็น ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด เพื่อเป็นการรีแบรนด์ และเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง (Transform) Next generation media ซึ่งมีแผนที่จะประกาศต่อไป
อย่างไรก็ตามTHได้ประกาศแต่งตั้ง นายอาณกร กยาวัฒนกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและรีแบรนด์