ปฏิวัติอาหารออร์แกนิกคุกคามอุตฯใบชาศรีลังกา

ปฏิวัติอาหารออร์แกนิกคุกคามอุตฯใบชาศรีลังกา

ปฏิวัติอาหารออร์แกนิกคุกคามอุตฯใบชาศรีลังกา ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่าหากรัฐบาลยังห้ามนำเข้าปุ๋ยพืชผลทางการเกษตรจะเริ่มเสียหายในเดือนต.ค.และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเดือนพ.ย.และธ.ค.

ศรีลังกาที่กำลังอยู่ในช่วงปฏิวัติอาหารให้เป็นออร์แกนิก100% ประเทศแรกของโลกกำลังเจอปัญหาใหญ่นั่นคือความพยายามในเรื่องนี้กำลังคุกคามอุตสาหกรรมชาที่เป็นแหล่งรายได้เป็นกอบเป็นกำของประเทศและจุดชนวนความวิตกกังวลว่าท้ายที่สุดแล้วจะสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลแก่ผลผลิตชาทั่วประเทศ

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา ประกาศห้ามใช้ปุ๋ยในปีนี้ ถือเป็นการประเดิมมาตรการเปลี่ยนแปลงพืชอาหารในประเทศให้เป็นพืชปลอดสารพิษเต็มรูปแบบแต่บรรดาเกษตรกรผู้ปลูกชาคาดการณ์ว่าผลผลิตชาอาจจะลดลงเร็วที่สุดภายในเดือนตค. เช่นเดียวกับอบเชย พริกไทยและพืชอาหารประเภทอื่นๆเช่น ข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอาหารของรัฐบาล

“เฮอร์มาน กูนารัตนี” ผู้ผลิตชาและถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชาวัย 46 ปี ที่ได้รับการทาบทามจากประธานาธิบดีให้นำทีมปฏิวัติอาหารปลอดสารพิษ เป็นหนึ่งในผู้ที่วิตกกังวลกับเรื่องนี้มากที่สุด โดยมองว่าจะทำให้อุตสาหกรรมชาของประเทศปั่นป่วนอย่างมาก และเมื่ออุตสาหกรรมชาได้รับผลกระทบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกชาวัย 76 ปีผู้หนึ่ง กลัวว่าผลผลิตรายปีของใบชาศรีลังกาที่ปัจจุบันอยู่ที่ 300 ล้านกิโลกรัม (660 ล้านปอนด์)จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าปฏิวัติอาหารทั้งประเทศให้เป็นอาหารออร์แกนิก

ศรีลังกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจเพราะผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หดตัวกว่า3% และความหวังของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมีอันต้องพังทลายเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ระลอกใหม่

ชา เป็นสินค้าส่งออกรายใหญ่สุดของศรีลังกา สร้างรายได้ให้แก่ประเทศนี้ปีละกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%ของรายได้โดยรวมจากการส่งออกของประเทศ

ประธานาธิบดีราชปักษาเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2562 พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะให้การอุดหนุนการใช้ปุ๋ยจากต่างประเทศแต่ต่อมาก็กลับคำโดยให้เหตุผลว่าการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน

กูนารัตนี ซึ่งขายชาขาวกิโลกรัมละ 2,000 ดอลลาร์ถอนตัวจากหน่วยงานเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดีราชปักษาหลังจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของประธานาธิบดี โดยระบุว่า ชาซีลอนของประเทศมีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณต่ำสุดและไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพของผู้ดื่ม

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ผลผลิตชาเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 160 ล้านกิโลกรัม (352 ล้านปอนด์)อานิสงส์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปุ๋ยเคมีแต่พอถึงเดือนก.ค.การเก็บเกี่ยวผลผลิตเริ่มลดลง

“สานาท กูรูนาดา” ซึ่งบริหารจัดการการปลูกชาออร์แกนิกและชาดั้งเดิมในรัตนะปุระ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโลคอมโบ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังคงห้ามนำเข้าปุ๋ยต่อไป พืชผลทางการเกษตรจะเริ่มเสียหายภายในเดือนต.ค.และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพ.ย.และเดือนธ.ค.

กูรูนาดา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ไร่ชาของเขายังคงเป็นชาปลอดสารพิษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการทำไร่ที่สร้างภาระให้แก่ครอบครัวเขา เนื่องจากต้นทุนในการปลูกชาออร์แกนิกสูงกว่าต้นทุนในการปลูกชาทั่วไปถึง 10 เท่าและตลาดยังมีจำกัด

“วา วิเจวาร์เดนา”อดีตนายแบงก์และเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ เรียกโครงการออร์แกนิกของรัฐบาลว่า"ความฝันที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่คาดไม่ถึงเพราะที่ผ่านมาความมั่นคงด้านอาหารของศรีลังกาไม่ถือว่าดีมากและหากไม่มีประเด็นสกุลเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องสถานการณ์ด้านอาหารของประเทศจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆมีความเห็นว่า ข้าวก็เป็นปัญหาเช่นกัน ขณะที่บรรดาเกษตรกรผู้ปลูกผักออกมาชุมนุมประท้วงเกือบทุกวันเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ผลผลิตลดลงและผักที่ปลูกได้รับผลกระทบจากแมลงและเพลี้ย

“ถ้าเราเปลี่ยนการปลูกพืชเกษตรไปเป็นออร์แกนิกทั้งหมด เราจะสูญเสียผลผลิตประมาณ 50% และเราก็ไม่สามารถขายพืชผลของเราในราคาที่สูงขึ้น50% ได้”กูนารัตนี กล่าว

บรรดาผู้ปลูกชามีความเห็นตรงกันว่านอกจากสูญเสียรายได้แล้ว ปัญหาที่เกิดจากเรื่องนี้ยังเป็นสาเหตุทำให้คนตกงานเพราะการเก็บใบชายังคงต้องอาศัยแรงงานมนุษย์

“การล่มสลายของธุรกิจชา ทำให้แรงงานประมาณ 3 ล้านคนอยู่ในฐานะเสี่ยงตกงาน”แถลงการณ์จากสมาคมเจ้าของโรงงานผลิตชาในศรีลังกา ระบุ

บรรดาเกษตรกร มีความเห็นว่า การส่งออกอบเชยและพริกไทยของศรีลังกาจะได้รับผลกระทบจากความพยายามผลักดันประเทศให้ผลิตพืชอาหารออร์แกนิกของรัฐบาลด้วย โดยศรีลังกาเป็นผู้จัดหาอบเชยให้แก่ตลาดโลกในสัดส่วน 85%

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีราชปักษาของศรีลังกา ยังคงมีความมั่นใจว่าความพยายามผลักดันให้ประเทศเป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรปลอดสารพิษเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ โดยประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เมื่อไม่นานมานี้ว่า เขามีความมั่นใจในโครงการริเริ่มผลิตพืชเกษตรออร์แกนิกและมั่นใจว่าแนวทางนี้จะสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแก่ประเทศได้มากขึ้น