โมเลกุลพิษงู ‘บราซิล’ อาจใช้รักษาโควิด-19 ได้

โมเลกุลพิษงู ‘บราซิล’ อาจใช้รักษาโควิด-19 ได้

"นักวิจัยบราซิล" ค้นพบโมเลกุลในพิษของงูชนิดหนึ่ง สามารถยับยั้งการแพร่พันธุ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ในเซลล์ลิงได้ นับเป็นก้าวแรกที่เป็นไปได้ สู่การค้นพบยารักษา เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

รายงานการศึกษานี้ เผนแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อโมเลกุล ประจำเดือน ก.ย. 2564 พบว่า โมเลกุลในพิษงูพันธุ์จาราราคัตสุ (Jararacussu) สามารถยับยั้งการแพร่พันธุ์ของไว้รัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในเซลล์ลิงได้ถึง 75% 

'ราฟาเอล กุยโด' ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซาเปาโล และนักวิจัยเขียนรายงานเรื่องนี้ กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า สารประกอบในพิษงูชนิดนี้ สามารถยับยั้งโปรตีนที่สำคัญของไวรัสได้

"โมเลกุลนี้เป็นเปปไทด์ หรือห่วงโซ่ของกรดอะมิโนที่สามารถเชื่อมต่อเอนไซม์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า PLPro ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบพันธุ์ของไวรัส โดยไม่ทำอันตรายต่อเซลล์อื่นๆ " ศ.กุยโด ระบุและกล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า เปปไทด์มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ สามารถสังเคราะห์เปปไทด์ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องจับหรือเลี้ยงงู

'กุยเซพเพ พูเอโต' นักสัตววิทยาของสถาบันบูตันตัน ประเทศบราซิล  กล่าวอีกว่า เราต้องระมัดระวังหลังจากรายงานฉบับนี้แพร่ออกไปว่า จะมีคนตามไล่ล่าจับงูสายพันธุ์จาราราคัตสุทั่วบราซิล เพราะคิดว่า พวกมันจะช่วยกอบกู้โลก แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่า พิษงูจะรักษาโคโรน่าสายพันธุ์ได้

ในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ระบุว่า หลังจากนี้ นักวิจัยจะประเมินประสิทธิภาพของโมเลกุลแต่ละโดสในปริมาณที่แตกต่างกันว่า สามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ตั้งแต่แรกได้หรือไม่ โดยพวกเขาจะทดสอบในเซลล์มนุษย์ต่อไป แต่ยังไม่กำหนดไทม์ไลน์ 

งูสายพันธุ์จาราราคัตสุ เป็นงูที่ใหญ่ที่สุดในบราซิล โดยมีความยาวไม่เกิน 2 เมตร อาศัยอยู่ในป่าชายฝั่งแอตแลนติก และยังพบในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา