เอกชนภูเก็ตห่วงยอดโควิดพุ่ง ขอเข็ม 3 สานต่อ 'ภูเก็ตแซนด์บอกซ์'
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต ห่วงผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งกระทบการตัดสินใจของ นทท. เสนอขอวัคซีนเข็ม 3 บูทเตอร์สานต่อ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ขณะที่ผู้ว่าฯ เร่งมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพบตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 200 รายต่อวันเนื่องจากเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 มีรายงานตัวเลขพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูเก็ต จำนวน 235 ราย จากเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ จำนวน 257 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อซึ่งได้รับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด และจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามโครงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สะสม ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. ถึง 2 ก.ย. 64 จำนวน 27,216 คน โดย 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้ามามากที่สุด
อ่านข่าว-เช็คด่วน 'โควิดวันนี้' 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม. 3,428 จับตาสมุทรปราการ นนทบุรี
ยกเว้นประเทศไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอส, ฝรั่งเศสและเยอรมัน จากจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการ 30,000 ห้อง จาก 370 โรงแรม มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 8.64% หรือ ประมาณ 11 คืน มีค่าใช้จ่ายต่อทริป 62,000 บาท (เฉลี่ย 5,600 บาท/คน/วัน) ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ทางตรงประมาณ 1,641.61ล้านบาท โดยมียอดจองระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 473,726รูทไนท์ แบ่งเป็นเดือนกรกฎาคม 190,843 รูมไนท์, สิงหาคม 176,128 รูมไนท์ และ กันยายน 106,755 รูมไนท์
นายพชร เหลือละมัย นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวันย่อมที่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้มีหลายประเทศยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งในส่วนของการควบคุมโรคทางจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่ด้วยเชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการติดได้ง่าย และกระจายในวงกว้าง จึงเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ
จากสถานการณ์ดังกล่าว อยากให้มองว่า ภูเก็ตได้รับวัคซีนเกือบ 100% และอยากขอวัคซีนเพิ่มจากทางภาครัฐ เพื่อเป็นการบูทเตอร์เข็มที่ 3 ซึ่งจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้เพราะยังไม่มีทางใดที่จะทำให้โควิดหายไป จึงต้องปรับมุมมองใหม่ว่า โควิดจะเป็นอีกโรคหนึ่งที่สามารถติดกันได้ง่าย แต่หากเรามีภูมิคุ้มกันและวัคซีนที่ดีจะทำให้เราสามารถอยู่กับมันได้ และในส่วนของแซนด์บ็อกซ์เราก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก สามารถทำรายได้ให้กับจังหวัดภูเก็ตพอสมควร แต่ต้องมาดูว่ารายได้ไปถึงกลุ่มไหนบ้าง และอาจจะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้รับอานิสงค์ ซึ่งทางจังหวัดจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง
ขณะที่ นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละกว่า 200 ราย ว่า ขณะนี้ตัวเลขเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ตัวเลขดังกล่าวก็กระทบกับการท่องเที่ยวพอสมควร แต่ไม่มากนัก โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการติดเชื้อภายในจังหวัดภูเก็ต เช่น แรงงานประมง แคมป์คนงาน ตลาดสด ชุมชน เป็นต้น และพบจากการตรวจเชิงรุก ซึ่งไม่ได้เกิดจากแซนด์บ็อกซ์ และเชื่อว่า หากตัวเลขลดลงเรื่อยๆ ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะเราสามารถควบคุมได้
ด้าน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นการติดเชื้อภายในจังหวัด ส่วนการติดเชื้อในกลุ่มของนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์มีน้อยมาก จากการดำเนินโครงการมา 2 เดือนเศษ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 27,200 คน พบผู้ติดเชื้อประมาณ 85 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ระดับหนึ่ง และในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาถือว่าได้ถูกทดสอบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อจากหลักหน่วยเพิ่มเป็นหลักร้อยคนต่อวันจากการคัดกรองเชิงรุกแต่ก็เริ่มมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ ต่อเนื่องวันละ 200-300 คน
อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดภูเก็ตได้พยายามหาแนวทางที่จะลดการติดเชื้อภายในจังหวัดให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ มีการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงแคบที่สุด โดยการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ใน ชุมชนหนาแน่น มีการ จัดระเบียบและควบคุมแรงงานต่างด้าวในทุกกลุ่ม สกัดเชื้อจากภายนอก ให้มีการเคลื่อนย้ายคนจากภายนอกเข้าภูเก็ตน้อยที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยมีการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แล้วกว่า 77 % และอยู่ระหว่างเสนอขอวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับบู๊ทเตอร์ อีก 400,000 โดส เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต รวมไปถึงการดูแลคนยากไร้ที่ประสบปัญหาขาดรายได้ด้วย และขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตร่วมกับศบค. อยู่ระหว่างการประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ เพื่อให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าต่อไปได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของภูเก็ต รวมถึงประเทศไทยต่อไป