ศบค. ขยายเวลารถสาธารณะถึง 4 ทุ่ม จัดรถให้เพียงพอ ลดความแออัด
ศบค. ขยายเวลารถโดยสารสาธารณะ วิ่งถึง 22.00 น. หลังคลายล็อกกิจการ กิจกรรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เพื่อความสะดวกพนักงานที่ต้องปิดร้าน จัดรถให้เพียงพอ ลดความแออัด
วันนี้ (3 ก.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวถึง การพูดคุยที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก หลังจากที่มีการประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 32 การเปิดกิจการกิจกรรม วานนี้ (2 ก.ย.64) กระทรวงคมนาคม รายงานว่า พี่น้องประชาชน ออกมาใช้บริการร้านอาหาร ร้านตัดผม เดินห้าง
อ่านข่าว-เช็คด่วน 'โควิดวันนี้' 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม. 3,428 จับตาสมุทรปราการ นนทบุรี
"และสิ่งที่พบ คือ การรอ รถโดยสาร แออัดพอสมควร โดยปกติ รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ ข้อกำหนดยังอนุญาตให้รับได้ 75% หากเห็นคนยืนบนรถเมล์ แสดงว่าเกิน 100% แล้ว ขอให้มีการกำชับมาตรการ ให้ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ"
- ขยายเวลา รถสาธารณะ 4 ทุ่ม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม อนุญาตให้ขนส่งสาธารณะ จัดยานพาหนะให้เพียงพอกับความต้องการกับพี่น้องประชาชน เพื่อลดความแออัด แทนที่จะยืนกันบนรถ ขอให้จัดรถเพิ่มให้เพียงพอ
"ที่สำคัญ เมื่อร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ปิด 20.00 น. พบว่า พนักงาน อาจจะมีปัญหาในการกลับบ้านไม่ทัน ที่ประชุมอนุญาตให้ดำเนินการขนส่งสาธารณะถึงเวลา 22.00 น. มีผลบังคับใช้วานนี้ นอกจาก เพิ่มจำนวนรถ อำนวยความสะดวก พี่น้องประชาชน แล้ว จะอนุญาตพนักงานที่จะเป็นต้องเดินทางกลับบ้าน หลังจากที่ปิดกิจการแล้ว"
- ย้ำ ประชาชนวางแผนเดินทาง ลดแออัด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ว่า ยังไม่ผ่อนคลาย เพียงแต่พนักงานห้าง ร้านอาหาร ที่มีความจำเป็นที่ต้องปิดร้าน และเดินทางกลับบ้าน แต่ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการ ขอให้วางแผนดีๆ ให้รีบกลับอย่าแออัดกันตอนที่มีรถค่อนข้างจำกัด เพราะขณะที่เราร่วมมือกันในส่วนของมาตรการเข้มข้นใน 2 สัปดาห์ และไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายจะมากขึ้นแน่นอน
"ขอขอบคุณบางพื้นที่ บางสถานประกอบการ ที่พยายามปฏิบัติตามมาตรการ Smart control and living with COVID-19 หรือ การควบคุมป้องกันโรคแนวใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างปลอดภัย"
- กิจการ พร้อมรับมาตรการ COVID – Free Setting
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า จะเริ่มเห็นร้านอาหาร เช่น สมุทรสาคร ขึ้นป้ายประกาศว่า พนักงานของร้านฉีดวัคซีนครบแล้ว หรือแม้กระทั่งร้านนวดที่ ถ.ทองหล่อ ตอนนี้ส่ง SMS บอกลูกค้าว่าพนักงานในร้านฉีดวัคซีนครบแล้ว ซึ่งหากมีสถานประกอบการที่พร้อม ท่านสามารถเริ่มมาตรการ COVID – Free Setting ได้เลย
นอกจากจะมีการตรวจ ATK สม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ก็มีการระดมให้บุคลากรในร้านฉีดวัคซีนให้ครบ จากนั้นมาตรการของลูกค้า หรือผู้ที่ใช้บริการ ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่หากใครพร้อมก็เริ่มได้เลย และลูกค้าให้ความร่วมมือ ไม่อยากเห็นความแออัด ตอนนี้อะไรรอได้รอก่อน การเดินทางหากเป็นไปได้ให้ชะลอก่อน การที่ค่อยๆ ผ่อนคลายไปเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นทิศทางที่ ทำได้อย่างแน่นอน
- เตรียมพร้อม หากมีการติดเชื้อ
"ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ย้ำเสอว่า แม้จะมีการเปิดกิจการกิจกรรม มากขึ้น ขอให้ทุกท่านตระหนัก ว่าความเสี่ยงของการสัมผัส รวมกลุ่ม ติดเชื้อ ยังอาจเป็นไปได้ ขอให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดเตรียมระบบการรักษาให้พร้อม หากเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ขอให้ทุกจังหวัด ทุก รพ. มีมาตรการที่จะรองรับได้ หากมีการติดเชื้อบ้าง เราสามารถดูแลได้ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เราต้องช่วยกัน คือ ผู้ติดเชื้อต้องได้รับการคัดแยก ดูแล และสามารถดูแลให้หายป่วยอย่างปลอดภัย" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
- จิตอาสา ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด
ท้ายนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทำงานหนัก จิตอาสามากมาย ที่ตอนนี้ระดมสรรพกำลัง มาช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนที่ป่วย ไม่ว่าจะ จิตอาสาพริบตา ที่ดูแลผู้ป่วย Home isolation ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ 1,153 คน มีเภสัชกร 63 คน ทันตแพทย์ 100 คน พยาบาล 453 คน รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ จิตวิทยา นักกำหนดอาหาร กายภาพบำบัด บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาดูแลเยอะที่สุดในประเทศไทย ที่จะโทรเช็กอาการ ให้ความสะดวก ดูแลพี่น้องประชาชนทีแยกกักตัวที่บ้าน
นอกจากนี้ ยังมีสมาคมแท็กซี่ ที่ช่วยส่งยาส่งอาหาร มีอาสาสมัครช่วยทำบัญชี ทำเพจประชาสัมพันธ์ ถือเป็นความร่วมตัวด้วยความเป็นห่วงสังคม ต้องขอขอบคุณ หลายคนเข้ามาช่วยตามศักยภาพ ความรู้ความสามารถ
อีกกลุ่มที่น่าชื่นชม คือ อาสาสมัคร CoCare ซึ่งมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป โดยออกหน่วยลงพื้นที่เชิงรุกในกทม. Test to Treat หน่วยงานที่ริเริ่มดูแลชุมชนทั้ง ริมคลองหลอดปลอดโควิด ชุมชนที่ตั้งเป้าเป็นชุมชนแห่งแรกที่จะปลอดโควิด โดยร่วมกับมูลนิธิอิสระชน อาสา CoCare กระทรวง พม. สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
รวมทั้งอาสาการแพทย์ CoCare อาสาคลองเตยดีจัง มูลนิธิเวชดุสิต มูลนิธิศุภนิมิต รร.เสนาธิการทหารบก บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานสิ่งแวดล้อม และเขตกทม. ตั้งแต่ 3 – 5 ก.ย. 64 ให้บริการตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะไม่หลงลืมกลุ่มเปราะบาง เร่ร่อนไร้บ้าน ชุมชนแออัด พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่
"การได้รับทราบว่ามีกลุ่มคนช่วยกันระดมกำลังความรู้ความสามารถ ที่มาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยให้คนได้รับความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจอันยิ่งใหญ่ที่สังคมต้องการ หรือใครที่ยังไม่ทราบว่าจะช่วยลงในจิตอาสากลุ่มไหน ก็จะเห็นว่าบางคนเปิดตู้ปันสุขข้างบ้าน ในพื้นที่ชุมชน วันก่อนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีมาก แต่เป็นข้าวสาร น้ำขวด เครื่องอุปโภคบริโภค ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในยามยากลำบาก สังคมไทย มักจะเกิดการช่วยเหลือ ร่วมมือ แสดงพลังน้ำใจ อยากให้รับทราบว่า สิ่งที่ทำในวันนี้ ยิ่งใหญ่จริงๆ" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวทิ้งท้าย