'สกพอ.' จับมือ 'อบจ.ระยอง' หนุนพัฒนาผลไม้ครบวงจร เพิ่มรายได้เกษตรกร

'สกพอ.' จับมือ 'อบจ.ระยอง' หนุนพัฒนาผลไม้ครบวงจร เพิ่มรายได้เกษตรกร

"สกพอ." ร่วมมือ "อบจ.ระยอง" และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ เร่งเครื่องพัฒนาไม้ผลครบวงจรตามโครงการ EFC แผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่อีอีซี นำร่องชาวสวนทุเรียนผลิตได้ตรงตลาด รักษาคุณภาพรสชาติด้วยห้องเย็นทันสมัย สร้างรายได้เพิ่มเกษตรกรตลอดปี

วันที่ 4 กันยายน 2564 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาไม้ผลอย่างครบวงจร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) และแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยมี นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) และนายโชติชัย บัวดิษ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 

บันทึกข้อตกลง ฯ ครั้งนี้ จะช่วยยกระดับผลไม้ไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานพรีเมียมระดับสากล ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการทำตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ ตรงความต้องการตลาดผู้บริโภครายได้สูง และสนับสนุนโครงการระบบห้องเย็นตามโครงการ EFC ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความร่วมมือสำคัญ ๆ 4 ด้าน ได้แก่


1) สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรไม้ผล ได้พัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการผลิต แปรรูป การค้าการตลาดยุคใหม่อย่างครบวงจร สร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากร เพิ่มอำนาจต่อรองตลอดช่วงการผลิตสินค้า


2) ยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลไม้ไทย สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคตลาดในและต่างประเทศ รักษาเสถียรภาพราคา ลดความเสี่ยงให้เกษตรกร


3) พัฒนาการเก็บรักษา ยืดอายุผลผลิตให้คุณภาพ รสชาติเดิมได้นาน ด้วยการใช้ประโยชน์ระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage)

4) ส่งเสริมการวิจัยและต่อยอดการแปรรูปไม้ผลมูลค่าสูง ร่วมกับพันธมิตร ให้ตรงความต้องการตลาด และสนับสนุนด้านการตลาดสมัยใหม่อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ระยะแรกกลุ่มที่เข้าร่วมลงนามเพื่อผลิตทุเรียนพรีเมียม จะมีเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ 16 กลุ่ม เกษตรกรประมาณ 700 ราย พื้นที่ประมาณ 8,200 ไร่ โดยจะผลิตทุเรียนได้ประมาณปีละ 13,000 ตันต่อปี และจะขยายเครือข่ายสมาชิกให้มากขึ้น จากความร่วมมือของ อบจ.และเกษตรจังหวัดที่สนับสนุนร่วมกัน รวมทั้งขยายผลเพิ่มเติมในกลุ่มไม้ผลอื่นๆ ต่อไป

163073903596

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า สาระสำคัญการลงนามความร่วมมือ ครั้งนี้ จะสอดคล้องกับโครงการ EFC ที่เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาเกษตรในอีอีซี ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ การสร้างสินค้าให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด โดย สกพอ. มุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าทุเรียนพรีเมียม การวางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่านระบบ e-commerce และ e-auction ผลผลิตที่ส่งออกต้องตรวจสอบและย้อนกลับได้ สร้างมูลค่าให้ทุเรียนของภาคตะวันออก การลงทุนห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เก็บรักษาให้มีความสดใหม่ และการจัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ที่เข้าร่วม ให้พัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพพรีเมียม โดยการผลิตทุเรียนของไทย

คาดว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จะสูงถึง 2 ล้านตัน ปัจจุบันผลผลิตจากระยอง คิดเป็น 10% หรือกว่า 1 แสนตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งระบบห้องเย็น ภายใต้โครงการ EFC จะสามารถจัดเก็บผลผลิต เพื่อขายในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวหรือช่วงขาดแคลนได้ โดยจะจัดเก็บทุเรียนได้ประมาณ 4,000 ตันต่อรอบ ซึ่งหากจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจะจัดเก็บได้มากกว่า 10,000 ตันต่อปี ช่วยรักษาความสด คงรสชาติ สร้างเสถียรภาพทางราคา สามารถส่งออกทุเรียนออกขายช่วงเทศกาลสำคัญ


ที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก ขายได้ราคาสูง หรือกำหนดราคาเองได้ รวมทั้งรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศให้กินทุเรียนของระยองได้ตลอดปี สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน