“จุรินทร์ ลุยสร้างแม่ทัพเศรษฐกิจรุ่นใหม่ภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO
“จุรินทร์” เดินหน้าโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO เผย นักศึกษาแห่เรียนทะลุเป้าจาก 12,000 ราย สมัครแล้ว 20,000 ราย มั่นใจเป็นอนาคตของประเทศ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO)ว่า ประชากรช่วงวัยอายุ 9-24 ปีหรือ Gen Z ทั่วประเทศมีกว่า 13 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งประเทศ 60-70 ล้านคน ถือว่ามีสัดส่วนเชิงปริมาณที่มีความสำคัญและในเชิงคุณภาพยิ่งมีความสำคัญเพราะพวกเราทุกคนจะเติบโตไปเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งโครงการ From Gen Z to be CEO หรือเรียกว่าโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO จึงเกิดขึ้นเพราะเดาใจออกว่าพวกเราจำนวนไม่น้อยต้องการเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตั้งฝันอนาคตไว้ว่าเมื่อมีโอกาสเรียนจบแล้วจะโตไปเป็นนายของตัวเอง มีธุรกิจของตนเอง
โดยกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์จะปั้น Gen Z ให้เป็น CEO ได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คนแต่ปรากฏว่ามี Gen Z สมัครเข้ามาแล้วถึง 20,000 คน สูงกว่าเป้าถึง 8,000 คน อบรมไปแล้ว 14,000 คนและวันนี้อีก 1,500 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงจึงมั่นใจได้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะสามารถสนองความต้องการของ Gen Z ได้ทั้งหมด 20,000 คน จากเป้าหมาย 12,000 คน และที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ มีหลักสูตรเพิ่มทักษะศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอีกหลายรุ่น รวมกันทั่วทั้งประเทศด้วยหลายหลักสูตรด้วยกัน โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (NEA) ทำมาแล้วในช่วงที่ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการถึง 67,000 คน รวม Gen Z ที่อบรมไปแล้วจนถึงวันนี้สามารถดำเนินการไปแล้วถึง 83,000 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทุกคนที่เข้ามาอบรมทั้งหมดจะได้เรียนรู้ในหลักสูตรสำคัญ เช่น อีคอมเมิร์ซซึ่งจะเป็นอนาคตของระบบการค้าโลกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคตมากยิ่งขึ้นเพราะกฎเกณฑ์ทั้งหลายใน FTA และหลายข้อตกลงทางการค้าในระบบพหุภาคีทั้ง ASEAN และ RCEP ล้วนให้ความสำคัญกับอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น หลักสูตรเรื่องโลจิสติกส์ ยุคใหม่ไม่เหมือนยุคก่อน เพราะเป็นโลจิสติกส์ในระบบอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีการบริหารจัดการยุคใหม่ การบริหารในระบบดิจิทัล การใช้ 5G ในการทำธุรกิจการค้า การใช้ระบบคลาวด์เซอร์วิสหรือระบบบัญชีดิจิทัลและการบริหารจัดการระบบตลาดออนไลน์ การส่งออกเบื้องต้น ภาษาอังกฤษเพื่อเจรจาทางการค้า เป็นต้น
เมื่ออบรมแล้วได้คะแนนผ่านเกณฑ์ครบ 500 คน จะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม ได้อบรมกับบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น และ Bitkub ผู้ที่ได้ TOP 100 คนแรก จะได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัทใหญ่เช่น ทรู หัวเว่ย และเอ็กซิมแบงค์ รวมทั้งโอกาสทำงานร่วมกันฝึกอบรมร่วมกับสำนักงานทูตพาณิชย์ไทยด้วยเพื่อเรียนรู้การค้าในต่างประเทศ
ทั้งนี้นายจุรินทร์ได้ตอบคำถามจากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจว่า ในสถานการณ์โควิดเกือบจะไม่มีประเทศไหนที่ไม่เผชิญกับวิกฤตโควิด ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆและอยู่ในระดับที่ไปได้อย่างน้อยตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะเป็นบวกอยู่หลายสำนักโดยเฉพาะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญสำคัญอันหนึ่งคือ การส่งออก ซึ่งการส่งออกของประเทศไทยแม้ในช่วงวิกฤติโควิดต้องถือว่าดีมากตัวเลขย้อนไปเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัว 41% มากที่สุดในรอบ 11 ปี เดือนมิ.ย.ขยายตัว 43% เดือนก.ค.ขยายตัว 20% ซึ่งก่อนเจอโควิดรอบใหม่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 4% ทั้งปี แต่ตอนนี้ตัวเลขส่งออก 7 เดือนม.ค.-ก.ค. 2564 เป็นบวก 16.2% มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 4 เท่า การส่งออกตอนนี้กลายเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ในขณะที่การลงทุน คือการลงทุนภาครัฐ ที่ขณะนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรไปแล้ว ส่วนกรลงทุนภาคเอกชน มีการรายงานใน ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ามีการขอการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพิ่มขึ้นมากซึ่งภาคการลงทุนจะเป็นอีกภาคหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของประเทศยังไม่ฟื้น จะต้องรอระยะเวลาที่เราสามารถฉีดวัคซีนครบ 70% เฉลี่ยทั่วทั้งประเทศ การท่องเที่ยวจึงจะเกิดได้ แต่ภาคการท่องเที่ยวในภาคส่วนโดยเฉพาะโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ดำเนินการแล้ว โดย เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้ ขณะได้ขยายพื้นที่เป็น”อันดามันแซนด์บ็อกซ์” นำจังหวัดพังงาและกระบี่มารวม และตามมาอีกหลายแห่ง เช่น เกาะสมุย พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน