รู้ทันการปลด "ศิลปินแห่งชาติ"

รู้ทันการปลด "ศิลปินแห่งชาติ"

จากการที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติในการประชุมลับครั้งที่ 3/2564 วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ของ อ.สุชาติ สวัสดิศรี

คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลว่าได้กระทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นพฤติกรรมที่มีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงฯ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ข้อ2 นั้น 
    ผลที่ตามมาคือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ทั้งในแง่ความเหมาะสม ธรรมเนียมการปฏิบัติในนานาอารยประเทศ และประเด็นทางกฎหมาย ซึ่งผมจะเสนอความเห็นเฉพาะในประเด็นทางกฎหมายเพื่อให้เห็นถึงการซ่อนเงื่อนหรือหมกเม็ดไว้ ส่วนประเด็นอื่นมีผู้นำเสนอไว้เยอะแล้ว

1.ปัญหาเชิงเนื้อหา
    มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการออกมติมีเพียงใด การโพสต์ข้อความ มีภาพ ถ้อยคำ หมิ่นเหม่ ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีข้อเท็จจริงอย่างไร ต้องให้เปิดออกมาเพื่อสามารถโต้แย้งได้อย่างชัดเจน หรือเป็นการตีความไปเอง แล้วคำว่าเสื่อมเสีย นั้น เป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง คณะกรรมการฯตีความโดยอาศัยเหตุผล ความเชื่อแบบไหน เป็นการตีความขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร
    ที่สำคัญกฎกระทรวงฯไม่ได้บัญญัติลักษณะของการเสื่อมเสียไว้ เช่น ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง เป็นต้น คณะกรรมการฯจึงไม่มีอำนาจบัญญัติลักษณะของการเสื่อมเสียขึ้นมาเองตามอำเภอใจ หรือตามทัศนคติทางการเมืองของตน อีกทั้งกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 และ3  ยังคุ้มครอง อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี อยู่

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการไม่มีอำนาจนิยามลักษณะหรือความหมายของคำว่าเสื่อมเสียขึ้นมาเองตามอำเภอใจ การลงมติถอดถอนโดยที่ อ.สุชาติไม่ต้องคำพิพากษาใดใด ไม่เคยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญาใดใด จึงเป็นการกระทำการโดยไม่สุจริต หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9(1)และ(3)แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

2.ปัญหาเชิงกระบวนการ
    ในการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ไม่ได้ให้โอกาส อ.สุชาติใช้สิทธิโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการฯ มาตรา 30  การที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า อ.สุชาติมีสิทธิชี้แจงคณะกรรมการฯ ภายใน 30 วัน นั้น กฎกระทรวงฯที่อ้างในการปลด ก็ไม่พบเรื่องการให้ชี้แจงภายใน 30 วัน หรือเรื่องการอุทธรณ์ร้องทุกข์ใด ๆ และการชี้แจงดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ เพราะไม่พบว่ามีกฎหมายกำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการฯนี้แต่อย่างใด
    กรณีดังกล่าว ถ้า อ.สุชาติยื่นชี้แจง น่าจะเป็นการเปิดประตูไปสู่เรื่อง "การขอพิจารณาใหม่" ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการฯ มาตรา 54 หรือคณะกรรมการฯกำลังใช้เทคนิคล่อให้เข้า ม.41(3) ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯเป็นเทคนิคหลอกล่อให้เข้าทางเพราะ ม.41(3)บัญญัติไว้ว่า  “มาตรา 41 คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ ... (3) การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลัง....”  

นอกจากนั้นผมเข้าใจว่าคณะกรรมการฯ คงจะอ้างข้อ (1) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โดยอ้างว่าการให้พ้นจากตำแหน่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) ที่ไม่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ซึ่งก็ฟังไม่ขึ้น
    เพราะในหมายเหตุท้ายกฎกระทรวงได้ให้เหตุผลว่า ต้องเป็นกรณีที่โดยสภาพไม่สามารถแจ้ง หรือไม่สมควรแจ้งให้คู่กรณีทราบก่อนการทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีนี้สามารถแจ้ง อ.สุชาติได้อยู่แล้ว และไม่มีเหตุผลใดที่จะมาอ้างได้ว่าไม่สมควรแจ้งเจ้าตัวน่ะครับ เพราะมิใช่การพ้นตำแหน่งเช่น การย้ายข้าราชการที่มิใช่อยู่ในวิสัยที่ควรกระทำ เป็นต้น
    ฉะนั้น จึงเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ตามมาตรา 9(1)และ(3)แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

3.การฟ้องคดี
    3.1 ศาลปกครอง เนื่องจากคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในระบบการบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ในชั้นเหนือขึ้นไปที่จะพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงบัญญัติให้โต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ และโดยที่มาตรา 87 บัญญัติให้มาตรา 48 เป็นอันยกเลิก 
    เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นทำหน้าที่แทนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ผู้รับคำสั่งจึงสามารถนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์ก่อน ไม่ว่าจะเป็น คำสั่งของคณะกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ/คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ/ คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งคำสั่งขององค์กรกลุ่มที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น สภามหาวิทยาลัย สภาองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ เช่น สภาวิศวกร หรือสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ฯลฯ 
    ในเมื่อคำสั่งถอด อ.สุชาติ มีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการฯ และเมื่อเป็นคำสั่งของคณะกรรมการฯ ซึ่งไม่พบว่ามีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ไว้ ดังนั้น อ.สุชาติ จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการฯแต่อย่างใด โดยอาจฟ้องเพื่อยกเลิกคำสั่งอย่างเดียวหรือฟ้องละเมิดทางปกครองควบคู่กันไปด้วยก็ได้

3.2 ศาลยุติธรรม
    แน่นอนว่าการมีมติครั้งนี้หากมีคำพิพากษาศาลปกครองถึงที่สุดว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตจริง ผู้เสียหาย คือ อ.สุชาติย่อมนำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมตามประมวลอาญามาตรา 157 ได้ ซึ่งคณะกรรมการก็ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวไป 
    แต่ก็อย่างว่าแหละครับงานนี้คุณวิษณุได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า ในส่วนของตัวเองและรมว.วัฒนธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองและปลัดฯ ได้งดออกเสียง ก็ปล่อยให้ที่เหลือผจญกรรมกันเองต่อไปน่ะครับ.