สปสช. "เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน" ไปแล้วกว่า 157 ล้านบาท

สปสช. "เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน" ไปแล้วกว่า 157  ล้านบาท

"สปสช." เผยผู้ยื่นคำร้องขอรับการ "เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน" มาแล้วกว่า 4,333 ราย จ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,224 ราย รวมเป็นเงินกว่า 157 ล้านบาท โดย สปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นมากที่สุด จ่ายแล้วกว่า 17 ล้านบาท

วันนี้ (15 ก.ย.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,333 ราย และยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 105 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,224 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,004 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 157,295,000 บาท

 

  • 3 ระดับความรุนแรง อาการไม่พึงประสงค์

 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของ อาการไม่พึงประสงค์ นั้นๆ โดย

 

ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,892 ราย

 

ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 21 ราย

 

ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 311 ราย 

 

  • จำนวนเขตยื่นพิจารณามากที่สุด 

 

หากพิจารณาแยกตามเขต มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด ได้แก่ 

 

สปสช.เขต 13 กทม. จำนวน 914 ราย

สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 618 ราย 

สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 499 ราย

 

สปสช. \"เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน\" ไปแล้วกว่า 157  ล้านบาท

  • เงิน "เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน" ที่จ่ายแล้ว

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า

 

สปสช.เขต 13 กทม. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 17,033,000 บาท 

สปสช.เขต 4 สระบุรี จ่ายเงินแล้ว 16,971,500 บาท

สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี จ่ายเงินแล้ว 15,576,700 บาท

 

  • ย้ำ ไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีด วัคซีนโควิด-19 ของ สปสช. นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน โควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช. เขตพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของ อาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้น

 

"เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย" นพ.จเด็จ กล่าว