ก้าวไกล ชี้สภาฯผ่านก.ม.อุ้มหายความสำเร็จข้างต้น หวังสร้างหลักประกันปชช.
‘ก้าวไกล’ ชี้ เป็นความสำเร็จขั้นต้น หลังสภาฯมีมติรับหลักการวาระแรกร่างพ.ร.บ.อุ้มหาย หวังสร้างหลักประกันความปลอดภัยประชาชน
ที่รัฐสภานายรังสิมันต์ โรม พร้อมด้วย มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่สภาฯรับหลักการร่างพระราชบัญญัติพิจารณาป้องกันการปราบปรามการทรมาน และทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….หรือก.ม.อุ้มหาย วาระเเรก ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญ
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากการที่ประชาชนร่วมกันผลักดันมานาน ตั้งแต่สมัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส.ในรัฐสภากว่า 101 คน
ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลเเละพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งในวันนี้สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยในการรับหลักการถือเป็นการประสบความสำเร็จขั้นต้น
อ่านข่าว : สภาฯผ่านวาระแรก "พ.ร.บ.อุ้มหาย" ตั้ง25กมธ."อังคณา-แกนนำม็อบ3นิ้ว" ร่วมทีม
“เราผ่านเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำ เเต่ยากที่จะลืมเลือน ทั้งในกรณี นายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ เป็นบุคคลถูกทำให้สูญหาย ณ ประเทศกัมพูชา เเละกรณีที่พันตำรวจโท ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผกก.โจ้อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลนครสวรรค์ ใช้ถุงดำคลุมศรีษะพร้อมซ้อมทรมานเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถึงแก่ชีวิต จึงหวังว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระได้ในปีนี้ เเละสมาชิกวุฒิสภาจะผ่านให้ในปีหน้า เพื่อให้ร่างกฎหมายได้ประกาศใช้
เราคาดหวังว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายนี้เเล้วจะมีกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รู้ เป็นการสร้างหลักประกันให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย”
ขณะที่ นายมานพ กล่าวว่า กรณีการบังคับสูญหายตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาเหล่านั้นสูญหายไปไหน ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีกรณีของ พอละจี รักษ์จงเจริญ เเละ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกทำให้สูญหายไปรวมถึงมีการซ้อมทรมาน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในอนุสัญญาซึ่งเป็นพันธสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ คือในปี 2550 หนึ่งฉบับ เเละปี 2555 หนึ่งฉบับ และในปีนี้ช่วงเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยจะต้องไปประชุมในเรื่องนี้ที่ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสฯ ร่างกฎหมายนี้จึงมีความสำคัญต่อการเป็นหลักประกันว่า เราจะทำตามที่ให้สัญญากับนานาชาติในการให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน