แพทย์แนะ "ผู้ป่วยโรคหัวใจ" และ "โรคปอด" ควรเร่งฉีด "วัคซีนโควิด-19”
สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย แนะ "ผู้ป่วยโรคหัวใจ" และ "โรคปอด" ควรเร่งฉีด “วัคซีนโควิด-19” ป้องกันการติดเชื้อ "โควิด-19" ได้ถึง 50-80% ป้องกันการป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต 90%
แพทย์หญิงปีนัชนี ชาติบุรุษ ศัลยแพทย์โรคทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี และ นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย เผยว่า ท่ามกลางการความพยายามแก้ไขปัญหาโรค โควิด-19 ณ ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรสาธารณสุขทั่วโลกต่างลงความเห็นเดียวกันว่า วิธีจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีที่สุด คือ เร่งให้ประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 ขึ้นไป เพื่อให้เกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในพื้นที่ ซึ่งองค์กรสาธารณสุขไทยก็เข้าใจในข้อเท็จจริงนี้ดี และได้เร่งให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า, กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงให้ลดน้อยลงที่สุด
“นอกเหนือจากกระบวนการจัดการด้านวัคซีนแล้ว สาธารณสุขฯ ยังมีหน้าที่แก้ไขความเข้าใจผิดของผู้คนที่เกิดจากความกลัวต่อตัววัคซีนอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูงอย่าง ผู้ป่วยโรคหัวใจ (โรคหัวใจและหลอดเลือด) และ โรคปอด (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง) ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ที่กังวลว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของวัคซีน อาจกระทบต่อโรคประจำตัวที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่ความจริงแล้วกลุ่มผู้ป่วยโรคทรวงอก (หัวใจและปอด) ล้วนแต่เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงสุด และต้องได้รับ วัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพราะหากผู้ป่วยโรคทรวงอกได้รับเชื้อโควิดเข้าไป โอกาสที่เชื้อจะลุกลามจนลงสู่ปอดและยากต่อการทำการรักษา มีมากกว่าคนทั่วไปถึงหลายสิบเท่า”
อ่านข่าว : รวมทุกข้อสงสัย ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17 ปี
สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ที่มีความเชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยโรคทรวงอก จึงต้องการสื่อสารให้ได้ทราบถึงความเข้าใจผิดต่อผลข้างเคียง และความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับ วัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ได้จัดทำสื่อในรูปแบบวิดีโอ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมข้อดีและความเสี่ยงในการรับวัคซีนให้เห็นแบบ animation และ infographic
โดยองค์การอนามัยโลก มีสถิติวิจัยและยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าวิธีฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 50-80% และยังช่วยป้องกันการป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้มากถึง 90% ที่สำคัญ อัตราความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน ยังน้อยเพียงแค่ 0.002% หรือในจำนวนคน 1 แสนคน จะพบผู้มีความเสี่ยงเพียง 2 คนเท่านั้น
“ความอันตรายของเชื้อโควิด-19 หลักๆ อยู่ที่ความเร็วในการแพร่ระบาด ความสามารถในการกลายพันธุ์จนเกิดการติดต่อได้ง่ายกว่าเก่า รวมถึงความรุนแรงเมื่อเชื้อลงสู่ปอด ดังนั้น จึงพูดได้เต็มปากว่าผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรคทรวงอกที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดลมทั้งหมด คือหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่สุด เพราะหากได้รับเชื้อโควิดเมื่อไร โอกาสที่เชื้อจะลุกลามลงปอดจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก"
"อีกทั้งการรักษาเยียวยาจะมีความยากยิ่งกว่า และยังมีเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตสูงมากอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ ผู้ป่วยโรคทรวงอก (หัวใจและปอด) ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน และรีบไปรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด” แพทย์หญิงปีนัชนี กล่าวทิ้งท้าย
สามารถรับชมสื่อวิดีโอแสดงความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอด โดยสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ได้ที่ https://youtu.be/UWGI-twZKgs