เปิดตัวเลขงบประกันรายได้ข้าว 3 ปี พุ่ง 4 เท่า “นักวิชาการ” แนะปรับวิธีอุดหนุน
นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำโดยการจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาผลผลิตในท้องตลาด กับราคาที่คณะกรรมการพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดเห็นว่ามีความเหมาะสม
ทั้งนี้จะเห็นว่าในรัฐบาลปัจจุบันมีการประกันรายได้เกษตรกรในสินค้าเกษตรหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และลำไย
สำหรับนโยบายการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐบาลดำเนินการมาตั้งแต่ปีการผลิต 2562/2563 ส่วนในปีการผลิต 2564/2565 ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบ วงเงิน 89,402 ล้านบาท ในการประกันรายได้ชาวนา4.69 ล้านครัวเรือน
อ่านข่าว : รายงานราคาข้าวขายส่งตลาดกรุงเทพฯ (สมาคมโรงสีข้าวไทย) (17 กันยายน 2564)
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมตัวเลขข้อมูลนโยบายการประกันรายได้ชาวนาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการอนุมัติวงเงินในโครงการนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในปีการผลิต 2562/63 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2562 อนุมัติวงเงินในโครงการนี้ 21,495.74 ล้านบาท โดยมีจำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 3.9 ล้านครัวเรือน ต่อมาในปีการผลิต 2563/2564 ครม.อนุมัติการปรับปรุงวงเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายครั้ง โดยล่าสุดคือวันที่ 9 มี.ค.2564 วงเงิน 50,646.27 ล้านบาท โดยมีจำนวนชาวนาที่เข้าโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 4.68 ล้านครัวเรือน
ขณะที่ในปีการผลิตล่าสุด 2564/65 ที่ประชุม นบข.เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาได้อนุมัติวงเงิน วงเงิน 89,402 ล้านบาท ในการประกันรายได้ชาวนา4.69 ล้านครัวเรือน
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว กล่าวว่าการตั้งวงเงินในการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 2564/2565 ไว้สูงมากเนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน โดยในปีนี้การส่งออกข้าวของไทยจะทำได้ประมาณ 4.5 - 5 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากในระยะ 6 เดือนแรกการส่งออกทำได้เพียง 2.16 ล้านตัน สะท้อนถึงปัญหาการหดตัวของตลาดข้าวอย่างรุนแรง
และตลาดข้าวไทยกำลังเล็กลงเรื่อยๆ อย่างตลาดข้าวในแอฟริกาก็ถูกอินเดียที่ราคาข้าวถูกกว่ามากแย่งตลาด ทำให้ตลาดเราเล็กลงเหลือในตลาดพรีเมียม ส่วนความต้องการข้าวหอมมะลิลดลงเนื่องจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ กดดันให้ราคาข้าวลดลงราคาการประกันรายได้ที่รัฐจ่ายก็จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ปัญหาที่พบคือการประกันรายได้ชาวนามีการแตกตัวเพิ่มจำนวนของครัวเรือนที่เข้าโครงการ จากเดิมตอนเริ่มต้นโครงการมีจำนวนครัวเรือนที่จะเข้าร่วมประมาณ 3.9 ล้านครัวเรือน
แต่ในระยะหลังพบว่าครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งตรงนี้พบว่ามีการแตกครัวเรือนออกมาซึ่งทำได้ง่ายเพราะการช่วยเหลือให้ที่ไม่เกิน 20 ไร่ เจ้าของที่นาที่มีที่จำนวนมากก็สามารถแตกที่ดินออกมาเป็นแปลงย่อยแล้วไปแจ้งกับอำเภอว่าเป็นที่ดินให้เช่า ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นปัญหาเพราะการแตกตัวขยายครัวเรือนออกไปในลักษณะนี้ภาครัฐก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพราะมีการสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวครัวเรือนละไม่เกิน 2 หมื่นบาท (ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่)
อย่างไรก็ตาม นโยบายในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัว ในระยะต่อไปข้าวถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ยาก เป็นเหมือนอุตสาหกรรมตกดิน (Sunset) เพราะต้นทุนการปลูกข้าวของเราสูงขึ้นเรื่อยๆขณะที่ข้าวหลายชนิดเข้ามาแย่งตลาด
การใช้นโยบายประกันรายได้ที่ทำอยู่เท่ากับเราไปช่วยเหลือผู้ส่งออก และอุดหนุนผู้บริโภคในต่างประเทศ ดังนั้นในระยะยาวไม่ควรจะทำนโยบายนี้ต่อเนื่อง จำเป็นต้องหานโยบายอื่น เพราะนโยบายแบบนี้ไม่เข้ากับบริบทของการพัฒนาการเกษตรในอนาคต
“ประกันรายได้ยังดีกว่าประกันราคา เป็นการแทรกแซงเหมือนกันแต่เป็นการแทรกแซงในระดับที่น้อยกว่าทำให้กลไกตลาดยังคงทำงานได้แต่ในระยะยาวแล้วยังทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ในระยะยาวมีโปรแกรมที่จะทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชตรงกับความต้องการของตลาด”