“ชัยชนะ”ดันวาระด่วนเข้าสภาฯของบ 4.5 พันล.แก้น้ำท่วม“ทุ่งสง”อย่างเป็นระบบ
“ชัยชนะ เดชเดโช” ส.ส.นครศรีฯ ปชป. เตรียมผลักดันวาระเร่งด่วนในสภา ขอจัดสรรงบฯ 4.5 พันล้าน แก้ปัญหาน้ำท่วมทุ่งสงอย่างเป็นระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าประชุมเพื่อปรึกษาหารือร่วมกับนายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่ ร.ต.กิตติภพ รอดดอน (นายอำเภอทุ่งสง นายจอมไกร สวัสดิวงศ์ (รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นายปรีชา พรหมเพศ ส.อบจ.อำเภอทุ่งสง นายทรงชัย วงษ์วชิรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง นายพิทักษ์พงษ์ ติ้บแก้ว ผอ.โครงการชลประทานนครศรีธรรมราชนายธเนศ ดิษฐ์ปัญญา (ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานที่ 10 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นประชาชน และคณะสื่อมวลชน ณ เทศบาลเมืองทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และลงพื้นที่ คลองท่าโหลน ประตูระบายน้ำควนกรด ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมของศูนย์บริหารจัดการน้ำ ในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการระบายน้ำและแผนป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่ อ.ทุ่งสงและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ 1)โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองทุ่งสง 2)โครงการประตูระบายน้ำควนกรด 3)โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าโหลน
นายชัยชนะ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก มีพี่น้องประชาชนชาวอำเภอทุ่งสงและจังหวัดนครศรีธรรมราชร้องเรียน เกี่ยวกับปัญหาที่ได้รับจากการเกิดอุทกภัยในทุก ๆ ปี ในตัวเมืองอำเภอทุ่งสง เนื่องจากพื้นที่ตอนบนเป็นพื้นที่สูงชัน และเป็นต้นน้ำของลำน้ำสายหลัก ได้แก่ คลองท่าเลา คลองตม คลองท่าโหลน คลองเปิกและคลองวังหีบ ประกอบกับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,985.5 มม. และมีปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปีประมาณ 7,865 ล้าน ลบ.ม. ในขณะเดียวกันสามารถเก็บน้ำได้เพียง 344.72 ลบ.ม. จึงไม่เพียงพอทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักกระแสน้ำไหลแรงและเร็ว ระบายน้ำไม่ทัน และการเจริญเติบโตของชุมเมืองมีมากขึ้น ทำให้มีพื้นที่รับน้ำน้อยลง เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ1)ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่เมืองทุ่งสง 2)ผันน้ำส่วนเกินไปยังลำน้ำใกล้เคียงที่มีศักยภาพการระบายน้ำสูงกว่า 3)ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติและอาคารตามลำน้ำให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ 4)ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งในข่วงฤดูน้ำหลากและน้ำแล้ง 5)เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร 6)เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่โครงการและใกล้เคียง
“ผมได้รับทราบถึงปัญหา แนวทางในการจัดทำโครงการดังกล่าว และพร้อมผลักดันเข้าในที่ประชุมสภาเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อจัดสรรงบประมาณ จำนวน 4,500 ล้านบาท ดำเนินงานตามโครงการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวอำเภอทุ่งสง และชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป” นายชัยชนะ กล่าว