ไทยพร้อม"ผู้นำอาหารโลกที่ยั่งยืน"ดันทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัย
นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ เวที สุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก “มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ” สร้างความมั่นคงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย
วันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 03.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (ซึ่งตรงกับเวลา 16.30 น. ของวันที่ 23 กันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summits: UNFSS) ร่วมกับผู้นำกว่าอีก 155 จากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly : UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวในฐานะที่ประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ จึงตระหนักดีถึงความสำคัญของระบบอาหารที่มีต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต สถานการณ์โควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหารที่เกิดขึ้นในทุกประเทศอย่างชัดเจน จึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุลมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ประการสำคัญ คือต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs
สำหรับประเทศไทย มีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร
อีกทั้งกรอบข้อเสนอในการพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้าน ของสหประชาชาติมีความสอดคล้องกับแนวทางของไทย ซึ่งเราได้นำวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มากำหนดนโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางอาหาร หรือ Safety ความมั่นคง หรือ Security และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร หรือ Sustainability อีกทั้งประเทศไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ซึ่งทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs มาเป็นเข็มทิศนำทาง
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ และได้ร่วมกับสหประชาชาติจัดตั้ง “วันดินโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ขณะเดียวกัน ก็ได้ร่วมกับ FAO มอบรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ให้แก่ประเทศ องค์กร หรือบุคคลที่มีผลงาน โดดเด่นในด้านดังกล่าวด้วย และในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด นำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหาร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ FoodSystems4SDGs โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลักของการประชุม UNFSS ได้เตรียมการและเข้าร่วมกิจกรรมของการประชุม UNFSS ตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยได้แต่งตั้งให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก (National Dialogues Convenor) ซึ่งได้เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021)
ได้วางแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน โดยจัดเวที ชวนคิด..ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) มากกว่า 10 ครั้ง ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งมีการประชุมหารือกับหน่วยงานสหประชาชาติ และ FAO ในประเทศไทย เพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารประเทศไทย และนำมาจัดทำเป็นท่าทีประเทศไทยในการประชุม UNFSS ในครั้งนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ในการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรี ได้ร่วมนำเสนอผลจากเวที ชวนคิด..ชวนคุย ที่จะพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืน ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ประชาชนต้องมีความสามารถในพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยประเทศไทยโชคดีที่ได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และดำเนินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในทุกตำบลทั่วประเทศ เป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารและการเกษตร
2. จะต้องบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อหาจุดสมดุลในทุกมิติ โดยกำหนดเป้าหมาย คำกัดความของความยั่งยืนที่เข้าใจตรงกัน สามารถยอมรับและทำงานร่วมกัน โดยที่เศรษฐกิจก็สามารถอยู่รอดได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคน “อิ่ม” และ “สุขภาพดี” และมีระบบการผลิตอาหารและการเกษตรส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้น้อยที่สุด
3. การสานพลังของทุกภาคส่วน เกษตรกร ชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และ 4. การมีธรรมาภิบาล (Governance) เป็นกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมแถลงข่าวประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน “อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดพันธกิจและผลการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมกันดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ได้แก่
1. จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2. สร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3. พัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 4. สื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน