โควิด กระทบส่งออกไทยเดือนส.ค.โต 8.93 %
โควิดรอบใหม่กระทบส่งออกไทยเดือนส.ค.ขยายตัวแบบชะลอตัว คาดยังส่งผลกระทบต่อเนื่องในเดือนก.ย.ขณะที่ 8 เดือนส่งออกขยายตัว 15.25 %
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค.ขยายตัว 8.93 % มูลค่า 21,976 ล้านดอลลาร์ เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและอาวุธ การส่งออกของไทยขยายตัว 19.43 % ซึ่งสะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกขยายตัว 15.25 % มูลค่า 176,961 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขยายตัวในเดือนส.ค.ที่ชะลอตัวมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ การล็อคดาวน์ และบางโรงงานผลิตบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และระบบโลจิสติกส์มีปัญหาติดขัดจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี
ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้าดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 47.92% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 65.73% จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในอนาคต และยอดรวม 8 เดือน มีมูลค่า 175,554.75 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30.97% เกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการส่งออกเดือนส.ค. คือ มาตรการการแก้ปัญหาเชิงรุกและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ ปัจจัยที่สอง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอังค์ถัดได้ประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะโตเร็วที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ หรือ 50 ปี จะเป็นปัจจัยบวกกับทุกประเทศในโลก จะโตมากในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เป็นต้น ปัจจัยที่สาม ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีของผู้จัดซื้อทางภาคการผลิตรวมของโลก มากกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 แปลว่า พร้อมซื้อและมีสัญญาณดีมานด์ ปัจจัยที่สี่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้านราคาของไทยสูงขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น
สำหรับการส่งออกที่ขยายตัว มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 23.6% และหากดูลึกในรายสินค้า พบว่า ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 98.8% บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 84.8% บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 51.0% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.4% บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าวเพิ่ม 25.4% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เป็นผลมาจากบาทอ่อนค่าทำให้แข่งขันได้ และอาหารสัตว์เพิ่ม 17.3 บวก 24 เดือนต่อเนื่อง หากดูเฉพาะสินค้าเกษตร จะบวกสูงถึง 45.5% โดยยางบวก 98.8% เกือบทำได้ 100% ผลไม้ 84.8% โดยเฉพาะเงาะที่ไม่เคยนำมาไฮไลต์ บวก 431% ทุเรียน 315.48% ลำไย ที่เคยกังวลช่วงต้นฤดู ขยายตัว 102.67% มังคุดขยายตัว 44.16%
สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.3% เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 17.8% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 44.3% เครื่องคอมพิวเตอร์ 10.5% อัญมณีเครื่องประดับ 35.7% เป็นมูลค่า 556,700.9 ล้านบาท
ขณะที่ตลาดส่งออก พบว่า ขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% จีน เพิ่ม 32.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 15.2% สหภาพยุโรป เพิ่ม 16.1% อินเดียเพิ่ม 44.2% ยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ CLMV ที่ขยายตัวติดลบ
“ภาพรวมการส่งออกในรอบ 8 เดือน ขยายตัว 15.25% เกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% ส่วนจะเป็นตัวเลข 2 หลักตามที่เอกชนประเมินไว้หรือไม่ ก็จะทำให้ดีที่สุด และเชื่อว่าทำได้ดี ส่วนการส่งออกในเดือน ก.ย.คาดว่ายังคงได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิดแต่ในเดือนต่อไปคาดว่าจะดีขึ้น”นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการขับเคลื่อนการส่งออกจากนี้ไปนั้นจะเร่งทำ 2 ข้อ คือ 1.เร่งทำข้อตกลงทางการค้า ในแต่ละประเทศ ทั้งในรูป FTA Mini-FTA ทวิภาคีหรือพหุภาคี ตามเป้าหมายที่ตนมอบเป็นนโยบายไว้ และการเจาะตลาดใหม่ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ตนได้พูดใน ครม.ว่าตลาดรัสเซียกับตลาด กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) เป็นตลาดที่สำคัญมาก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯก็อยากให้ไปเร่งเจาะตลาด ตนแจ้งว่าอยู่ในแผนของกระทรวงพาณิชย์และเราให้ความสำคัญมากเพราะจะเป็นตลาดใหม่ ตัวเลขเรายังไม่มาก และแอฟริกา ตะวันออกกลาง และตลาดสแกนดิเนเวียเป็นตลาดสำคัญ นอกจากตลาดอื่นๆ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัญหาความกังวลเรื่องชิปขาดแคลนที่อาจส่งผลต่อการส่งออกยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฮเทค นั้น ปัญหาดังกล่าวเกิดจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญเช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและไต้หวัน เกาหลีใต้ประสบปัญหาโควิดมีผลทำให้กระทบต่อการผลิตหยุดการผลิตชั่วคราว จากการสอบถามภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 จะไม่กระทบกับสินค้าส่งออกเท่าไรนักเพราะมีสินค้าคงคลังเก็บไว้อยู่อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยตัวเลขสินค้าส่งออกด้านนี้ในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ดีอยู่ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเพราะช่วงที่ผ่านมามีความต้องการมากจนผลิตไม่ทันและปัญหาภัยธรรมชาติ และโควิดโรงงานไม่สามารถผลิตได้