ผู้ว่าฯ โคราช ยัน "อ่างลำเชียงไกรตอนล่าง" ไม่ได้แตก สั่งทุกอำเภอจัดเวรเฝ้า
ผู้ว่าฯ โคราช ยืนยัน "อ่างลำเชียงไกรตอนล่าง" ไม่ได้แตก เป็นแผนเพิ่มช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างฯ สั่งทุกอำเภอ จัดเวรยาม 24 ชม.เฝ้าบ้านเรือน ปชช.หลังอพยพ ป้องกันมิจฉาชีพ
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีตัวเอกภาคเอกชน ประธานหอการค้า อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และผู้แทนส่วนราชการ ร่วมประชุม
นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะลุ่มน้ำลำเชียงไกร พบว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ทำให้ทางชลประทานจำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อระบายน้ำออกเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากอ่างเก็บน้ำแตกหรือเสียหายจากน้ำแต่อย่างใด ช่องระบายน้ำที่เกิดขึ้นเป็นเจตนาในการเพิ่มช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเท่านั้น เนื่องจากน้ำเกินความจุของอ่างฯ ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร เกินความจุมาก่อนแล้ว และได้มีการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากมวลน้ำที่มากขึ้น หากไม่มีการเปิดช่องระบายน้ำเพิ่มเติม อาจจะทำให้สันเขื่อนเกิดความเสียหายได้
จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ลุ่มน้ำลำเชียงไกรขณะนี้ ถือเป็นลุ่มน้ำที่น่าเป็นห่วงที่สุด ส่วนลุ่มน้ำลำพระเพลิง ลำตะคอง ยังต้องเฝ้าระวังจับตาเช่นกัน พี่น้องประชาชนทุกพื้นที่จะต้องขนย้ายทรัพย์สินขึ้นสู่ที่สูง แต่ชีวิตต้องสำคัญกว่าทรัพย์สิน หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขอให้พี่น้องประชาชนรีบอพยพตัวเองออกมาสู่ที่ปลอดภัยเป็นอันดับแรก
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา มีระดับน้ำเก็บกัก 41.96 ล้าน ลบ.ม. (151.49%) ซึ่งเกินระดับเก็บกักสูงสุด และมีน้ำส่วนเกินไหลล้น ผ่านทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) และเนื่องจากมีปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.เทพารักษ์ และ อ.ด่านขุนทด เป็นปริมาณมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จนกระทั่งน้ำเกิดไหลข้ามทำนบชั่วคราวของบ่อก่อสร้างและข้างตัวอาคาร กว้างประมาณ 15.00 เมตร จึงได้ใช้ช่องทางระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารระบายน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระบายน้ำ แทนที่จะต้องตัดคัดดินที่ต้องเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อที่ต้องการให้ปริมาณน้ำออก เท่ากับหรือมากกว่าน้ำเข้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวทำนบดินอ่างเก็บน้ำ ซึ่งยาว 3,600 เมตร ปัจจุบัน อัตราการไหลของน้ำผ่านช่องทางดังกล่าว ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกลและลำน้ำสาขา มีปริมาณเพิ่งสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำและพื้นที่ริมตลิ่ง