ชำแหละ"ระบบถ่วงดุล" สภาฯอ่อนแอ-รัฐครอบงำ

ชำแหละ"ระบบถ่วงดุล" สภาฯอ่อนแอ-รัฐครอบงำ

มุมมองจากนักวิชาการต่ออนาคตการเมืองไทย ระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ-บริหาร ที่ดูเหมือนจะสอบตก และบทเรียนรัฐธรรมนูญฉบับ62 ซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นเพียงแค่"พิธีกรรม"

ความเห็นต่ออนาคตการเมืองผ่านการสัมมนาออนไลน์ เรื่อง "ส่องอนาคตการเมืองไทยเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน" จัดโดยนักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า โดยมีการนำเสนอผลงานศึกษาและวิจัย พร้อมข้อเสนอแนะต่อการเมืองไทยในภาวะปัจจุบัน

ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นำเสนอรายละเอียดตอนหนึ่งต่อการปรับปรุงระบบงานนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบรัฐบาลว่า การตรวจสอบฝ่ายบริหารของสภาฯ ในส่วนของการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่พบปัญหาว่านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเลี่ยงตอบกระทู้ 

ทำให้มีข้อเสนอจากประชาชนว่า หากรัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้สด จำนวน 3 ครั้ง ให้ถือว่า ขาดคุณสมบัติ เป็นต้น 

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงการตรวจสอบ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิส.ส.สามารถยื่นญัตติขออภิปรายรัฐมนตรีได้เป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้สิทธิ ส.ส.ทุกคนที่ยื่นญัตติได้ แต่จำกัดปีละ 1 ครั้ง

น.ส.ถวิลวดี กล่าวด้วยว่า ในผลการศึกษาของสถาบันพบว่า เมื่อฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ประชาชนจะอ่อนแอ ส่วนสถาบันรัฐสภาที่ผ่านมาตรวจสอบฝ่ายบริหารได้น้อย แม้จะทำงานด้านนิติบัญญัติแต่จะถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร

ส่วนพรรคการเมืองนั้นพบว่ามีความเป็นตัวแทนประชาชนน้อย ถูกครอบงำ แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือมีความหลากหลายในพรรคการเมืองและมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“ฉากทัศน์ทางการเมืองที่จะสร้างการเมืองให้สมดุล คือ ต้องมีนักการเมือง รัฐสภามีความเป็นมืออาชีพ และนำแก้ปัญหาสังคมได้ ขณะที่ฝ่ายบริหารต้องเน้นอำนาจ และประโยชน์ของส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำ และการเมืองที่นำโดยภาคพลเมือง ใช้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เน้นการกระจายอำนาจ ทั้งการเมือง การคลัง การตลาด พร้อมกับสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก 

ทั้งนี้ทุกอำนาจต้องตรวจสอบถ่วงดุลสมดุล โดยสิ่งที่ขับเคลื่อนฉากทัศน์การเมืองที่ต้องการได้ ต้องเปลี่ยนผ่าน ประชาชนร่วมกำหนดนโยบาย ไม่ใช่ให้ฝ่ายบริหารหรือนักการเมืองทำเท่านั้น ที่ผ่านมาพูดว่าทำ ทำ ทำ จะบอกว่าจะกี่บิ๊กล็อกไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้” น.ส.ถวิลวดี กล่าว

- “พรรคสุดโต่ง”อยู่ยาก

เช่นเดียวกับ ปกรณ์ ปรียากร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยที่ยั่งยืน คืออะไร คือ อุดมการณ์ อุดมธรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศผูกติดที่ทางสายกลาง ไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เห็นได้จากที่บางพรรคการเมืองอยู่ไม่รอด เพราะครองที่นั่งมหาศาล แต่ตัดประชาชนออกไป ใช้การสั่งการแบบซีอีโอจังหวัด ไม่เป็นธรรมชาติของการเมืองภาคประชาชน เพราะใช้เอกชนนำประชาชน 

 “ดังนั้นฉากทัศน์การเมืองต้องหาตัวแทนของประชาชนร่วมพูดคุย ส่วนการพัฒนาทางการเมืองในสภาฯนั้น มองว่ามีความเข้มแข็งในตัว แต่จะมีสะดุดบ้างเพราะประชาชนเข้มแข็ง และทำให้พรรคการเมืองตื่นตัว จากสถานการณ์โควิด-19 เห็นชัดเจนว่าประชาชนมาก่อนนักการเมือง" 

-ปชต.ไร้ระเบียบเสี่ยง‘อนาธิปไตย’

ไม่ต่างไปจาก นิยม รัฐอมฤต คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า หลายคนอยากได้ประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา แต่เชื่อว่าเมื่อได้ประชาธิปไตยแล้วยังมีปัญหา เพราะพลเมืองไม่มีคุณภาพ ดังนั้นประชาธิปไตยที่ดีต้องได้พลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นการปกครองจะไร้ระเบียบ กลายเป็นอนาธิปไตย 

สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตนมองว่าต้องสร้างเครื่องมือ และมีรูปแบบที่ชัดเจน รวมถึงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จ อย่างประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตยที่พอยอมรับได้ ก่อนหน้านี้คือเผด็จการแต่มีความได้เปรียบทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จึงใช้เพื่อกอบโกยทรัพยากรจากประเทศที่ไม่พัฒนา

-“ประชานิยม” ต้นตอเปลี่ยนค่านิยม

ขณะที่ข้อศึกษาของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจ  อาทิ ทศพล สมพงษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การออกแบบพลเมืองให้มีสำนึกทางการเมืองของพลเมือง ไม่สามารถพัฒนาหรือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เพราะนโยบายรัฐไม่ชัดเจน และบางครั้งถูกตีความในหลากหลายแง่มุม 

นอกจากนั้น คือการใช้นโยบายประชานิยมที่เน้นการพึ่งพิงรัฐ ทำให้ไม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงความไม่เป็นธรรรมทางกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่นำโดยทุนนิยม เน้นวัตถุ เน้นตนเองได้ประโยชน์มากกว่าการทำงานเพื่อส่วนรวม

“การเมืองภาคพลเมือง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่คือการสร้างความรู้ความเข้าใจการเมืองภาคพลเมือง สร้างพื้นที่แสดงออกทางสาธารณะให้พลเมือง เช่น การแลกเปลี่ยนความเห็น กำหนดข้อแนะในการเสนอพัฒนาประเทศ ร่วมกับการเมืองภาคผู้แทน ไม่ใช่พื้นที่กำแพงรอบทำเนียบฯหรือ บนถนน และที่สำคัญคือ ต้องปรับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ปฏิรูปราชการที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางเป็นยึดพลเมืองเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่าหากทำได้ การเมืองภาคพลเมืองจะเติบโต”

- ไพรมารีโหวตเสียของ-พิธีกรรม

ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ “ไพรมารีโหวต” ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองในปี 2562 พบว่าเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น และในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เนื้อหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.จะไม่ถูกนำมาใช้ เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขไพรมารีโหวต เช่น ไม่นำมาบังคับใช้กับทุกเขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอต่อการพัฒนาการเมืองโดยพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองต้องเน้นการให้ศึกษาทางการเมืองกับประชาชน โดยเฉพาะเด็ก และ เยาวชน นอกจากนั้น ต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีการกระจายอำนาจ ลดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก