เช็คประกาศ กทม.ฉบับ 43 คลายล็อกกิจการ-กิจกรรม ในกรุงเทพฯ เริ่ม 1 ต.ค.นี้
"อัศวิน" ลงนามประกาศ กทม.ฉบับ 43 สั่งคลายล็อกกิจการ-กิจกรรมในกรุงเทพฯ พร้อมกำหนดเงื่อนไข "คลายล็อก" ป้องกันโควิด เริ่ม 1 ต.ค. เช็ครายละเอียดที่นี่!
วันที่ 30 ก.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 43 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีเนื้อหาระบุถึง สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถปรับมาตรการ โดยผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม กำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องติดตามกำกับดูแล ทั้งบุคคล สถานที่ การดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และป้องกันโรคในระยะยาว เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศษฐกิจ การฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมโรคอย่างสมดุลและยั่งยืน
ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่ สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกำหนดนี้เพื่อให้เปิดดำเนินการได้ โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมสถานที่ การตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ การกำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
12 กิจการ-กิจกรรมยังสั่งปิดต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 28/2564 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ปิดสถานที่ดังต่อไปนี้
1.1.สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
1.2 สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
1.3 สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร
1.4 สวนน้ำ สวนสนุก
1.5 สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็ก
1.6 ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต หรือตู้เกม
1.7 ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ
1.8 สนามกีฬาในร่มทุกประเภท (ยกเว้นสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
1.9 สถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
1.10 สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
1.11 สนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
1.12 สนามม้า
เช็คกิจการ-กิจกรรมเปิดได้ พร้อมกำหนดเงื่อนไขป้องกัน "โควิด"
2.ให้สถานที่ดังต่อไปนี้ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค มาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะโดยเคร่งครัด
2.1 โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือการทำกิจกรรมใด ( ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2.2 สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก ให้เปิดดำเนินการได้ โดยให้สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้น ๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.3 ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปีดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม ในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และจำกัดจำนวน ผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดีเช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่แผงลอย รถเข็นให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งปกติ
ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มอาจจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นได้ โดยมีผู้แสดง ไม่เกินจำนวน 5 คน ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้อง นักแสดง หรือนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ขณะทำการแสดงมาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
2.4 ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัดเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภคให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อที่ตามปกติ เปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
2.5 ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลย์ แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยอาจพิจารณา ตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่สามารถรองรับได้ตามปกติ และให้ผู้ใช้บริการงดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มขณะเข้าขมหรือใช้บริการ รวมทั้งงดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความแออัด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.6 โรงภาพยนตร์ สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยจำกัดจำนวน ผู้ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนความจุที่นั่ง และจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างโดยการเว้นที่นั่งตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และงดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในระหว่างการชมภาพยนตร์
ผู้รับบริการร้านสัก-สปา-นวดแผนไทย ต้องแสดงหลักฐานรับวัคซีน-ผลตรวจโควิดไม่เกิน 72 ชม.
2.7 สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับร้านสักที่จะให้บริการได้เฉพาะผู้รับบริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย การติดเชื้อ SARS -Cov-2 (เชื้อก่อโรคCOVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test Kits : ATK) (ชุดตรวจ ATK)
2.8 สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ โดยจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินร้ายละสองชั่วโมง จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ยกเว้นการอบตัว อบสมุนไพร และการอบไอน้ำ ที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ โดยกำหนดเงื่อนไขเฉพาะการให้บริการประเภทการใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปา ที่ผู้เข้ารับบริการต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือ โดยการใช้ชุดตรวจ ATK
2.9 สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีพาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา ทั้งนี้ สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาที่มีการใช้เพื่อให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของภาครัฐ ให้เปิดดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และงดเว้นการให้บริการอบตัวหรืออบไอน้ำ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
แข่งขันกีฬาจุผู้ชุมไม่เกิน 25 % ของสนาม แสดงหลักฐานรับวัคซีน-ผลตรวจโควิดไม่เกิน 72 ชม.
2.10 การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา กรณีจัดการแข่งขันแบบมีผู้ชมในสนามให้ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และกรณีจัดการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชมในสนามให้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการท่องเที่ยว และกีพาและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยกรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ 25 ของความจุสนาม และผู้เข้าชมในสนามต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับวัคนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการใช้บริการ โดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อย่างเคร่งครัด สำหรับการใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ ให้เข้าใช้สถานที่ได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.11 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทดังต่อไปนี้ที่ยังคงกำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
ก.โรงเรียนและสถาบันกวดวิชา สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยให้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข.โรงภาพยนตร์ สามารถเปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 2.6
ค.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทำเล็บ ร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมายและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 2.7 สำหรับร้านเสริมสวยแต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละสองชั่วโมง
ง.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 2.8
จ.สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 2.9 และข้อ 2.10
ฉ.สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม ยังคงให้ปิดการดำเนินการในช่วงเวลานี้ไว้ก่อน
2.12 การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกันสามารถทำได้ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.13 โรงมหรสพ โรงละคร ให้ยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยจำกัดจำนวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่รวมไม่เกิน 50 คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวทีที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ โดยงดการติดต่อสัมผัสระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.14 โรงเรียนสอนมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน หรือการทำกิจกรรมใด ๆ โดยดำเนินการตามข้อ 2.1
2.15 สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก
2.16 ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สนามพระเครื่อง พระบูชา
2.17 สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์
2.18 สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ให้เปิดได้เฉพาะการจัดกิจกรรมหรืองานตามประเพณี เช่น งานหมั้น โดยต้องไม่มีการจัดเลี้ยงอาหาร
2.19 โรงแรมให้งดกิจกรรมจัดประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง โดยสามารถให้บริการจัดกิจกรรมหรืองานตามประเพณี เช่น งานหมั้น โดยต้องไม่มีการจัดเลี้ยงอาหาร
สถานที่ก่อสร้างดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือราชการกำหนด
3.พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงานงานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งได้เคยมีประกาศหรือคำสั่งให้ปิดสถานที่หรือหยุดการดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 หรือเคยได้รับการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข ตามประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง สั่งปีดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 35 ) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564
แต่ต่อมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สถานที่มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้ว เปิดดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผลที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal เพื่อป้องกันการระบาด ในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ ยังคงให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่ที่สถานที่ตั้งอยู่แจ้งเจ้าของสถานที่ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทราบ
4.ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2564