“กินเจภูเก็ต64” ย้ำมาตรการเข้ม คุมขบวน “ม้าทรง” ต้องอยู่บนรถ
เทศกาลกินเจ 64 หรือที่ชาวเมืองภูเก็ตเรียกว่า “ถือศีลกินผัก” จะเริ่มขึ้นในวันที่ 6-14 ต.ค.นี้ ท่ามกลางมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
เทศกาล "กินเจ 2564" ที่ จ.ภูเก็ต กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6-14 ตุลาคมนี้ แต่ถึงเช่นนั้นเทศกาลที่เคยคึกคักและมีสีสันเทศกาลหนึ่งที่จัดในประเทศไทย กลับมีทีท่าว่าจะเงียบลงจากสถานการณ์โควิด-19
นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า “เทศกาลถือศีลกินผัก” จ.ภูเก็ตในปีนี้ จะมีมาตรการตามมติที่ ประชุม ครั้งที่55 /2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ซึ่งมีคำสั่งว่าด้วยมาตรการด้านการป้องกันโรค ได้แก่ 1.ให้แต่ละศาลเจ้าจัดพิธีการเป็นการภายในโดยมีผู้เข้าร่วมพิธี เฉพาะคณะกรรมการที่มีหน้าที่ม้าทรงและผู้เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นตามที่ผู้บริหารศาลเจ้ากำหนด 2.ม้าทรงทุกคนและพี่เลี้ยง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในศาลเจ้าทุกคน ต้องได้รับการฉีดวัคชีนครบสองเข็มโดยได้รับการตรวจ (Antigen Test Kits) ATK ก่อนเริ่มวันถือศีลกินผัก 1 วัน และตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการกินผัก ขณะที่หากพบว่ามีผู้ใดมีอาการเข้าเกณฑ์นิยามผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under Investigation : PUI) ให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลและงดร่วมกิจกรรม
3.ลดขั้นตอนและพิธีกรรมให้เหลือเท่าที่จำเป็น หากมีพิธีกรรมที่จะต้องออกนอกสถานที่ให้ใช้ขบวนรถแทนการเดินเท้า 4.ลดจำนวนม้าทรงและพี่เลี้ยง ให้ประทับทรงเท่าที่จำเป็น และงดการแสดงอภินิหารของม้าทรง 5.ให้มีการคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ศาลเจ้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ในทุกพิธี ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง
6.ลดจำนวนจุดไหว้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นและกำหนดจุดปักธูปสำหรับประชาชนให้อยู่ภายนอกห้องที่มีอากาศถ่ายเท 7.ห้ามมิให้ร้านค้าจำหน่ายประทัด (ยกเว้นประทัดแพที่ได้รับอนุญาต และห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงและเล่นประทัด ดอกไม้เพลิงอันตราย ตามประกาศของจังหวัดภูเก็ต 8.การจัดโรงครัว ให้จัดเท่าที่จำเป็น และไม่ควรจัดให้มีการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยให้แต่ละศาลเจ้ากำหนดรูปแบบการแจกจ่ายอาหารที่ลดความแออัดและให้สอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตให้คำแนะนำ 9.การรวมกลุ่มกันของทุกกิจกรรม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 100 คน ทั้งนี้ ให้รวมทุกประเภทและเว้นระยะห่าง 1- 2 เมตร โดยให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
นายผดุงเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมของประเพณีถือศีลกินผักยังคงเป็นไปตามเช่นเดิม แต่ได้ขอความร่วมมือกับทุกศาลเจ้าในจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และการมีแนวทางที่ออกมามีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัด ความใกล้ชิดของผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะในกรณีของขบวนแห่พระ-ม้าทรง ที่ต้องการให้งดขบวนเข้าเยี่ยมผู้ศรัทธาตามบ้าน แต่เปลี่ยนมาใช้รถแทน แต่ถึงเช่นนั้นผู้ศรัทธาสามารถตั้งโต๊ะริมทางสัญจรได้ตามปกติ
“หลังจากมีคำสั่ง ศาลเจ้าทุกแห่งก็รับทราบและพร้อมจะปฏิบัติตามแนวทาง และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.64 ที่ผ่านมาทางสาธารณสุขจังหวัดก็เพิ่งแจกชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ให้ทั่วถึงเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ตรวจก่อนเข้างาน” นายผดุงเกียรติ กล่าวและว่า ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมงาน “ถือศีลกินผัก" จ.ภูเก็ต” ประจำปี 2564 ยังสามารถเดินทางมาได้อยู่ แต่ต้องผ่านมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัด
โดยในคำสั่งนี้มีสาระสำคัญในเรื่องของมาตรการเข้าจังหวัด ซึ่งหากเป็นคนที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดภูเก็ตจะเดินทางเข้าต้องมีการฉีดวัคซีนครบโดส และต้องมีผลการตรวจ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test หรือ ตรวจ ATK โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หากไม่ตรวจมาก่อน สามารถนำชุดตรวจมาตรวจคัดกรองที่หน้าด่านตรวจได้ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจ และรับรองผลการตรวจให้ จะใช้เฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ส่วนคนต่างจังหวัดให้ตรวจคัดกรองมาให้เรียบร้อยและต้องฉีดวัคซีนครบโดสเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าจังหวัดภูเก็ตได้
สำหรับ “ม้าทรง” นั้นเป็น ความเชื่อของคนภูเก็ตเกี่ยวข้องกับประเพณีถือศีลกินผักโดยตรง ความเชื่อของคนที่นี่บอกกันว่า ผู้ที่จะเป็นม้าทรงนั้นเทพเจ้าจะเป็นผู้เลือก โดยพิธีกรรมของม้าทรงในแต่ละศาลเจ้าได้มีการใช้อาวุธในการทรมานร่างกาย ซึ่งมีทั้งที่ใช้อาวุธในตำนาน และนอกเหนือจากตำนานที่กำหนดไว้ เช่น มีด ร่ม เหล็กแหลมมีการเจาะลิ้น และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
ม้าทรงจะอยู่ใน ขบวนแห่พระรอบเมืองหรือพิธีอิ้วเก้ง โดยเส้นทางที่ขบวนแห่พระแห่ผ่านประชาชนตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดต้อนรับตลอดเส้นทางเส้นทางที่ขบวนแห่พระผ่านจะมีการจุดประทัดเสียงดังตลอดเส้นทาง
พิธีแห่พระหรืออิ้วเก้ง เป็นการออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์ หรือทำนองออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์ โดยมีขบวนธง และป้ายชื่อแห่นำหน้าขบวน จากนั้นเป็นเกี้ยวหามรูปพระ เรียกว่า ไทเปี๋ย หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่าง ๆ ออกนั่งเกี้ยวตามขั้น และยศของเทพ จากนั้นเป็นขบวนของนิ่วสิ่ว (ฉัตรจีน) ตามด้วยพระเกี้ยวใหญ่ หรือตั๋วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) เป็นที่ประทับองค์กิ๋วอ่องไต่เต่ มักใช้ 8 คนหาม และนอกจากนี้ ในขบวนแห่พระจะมีม้าทรงทั้งชาย และหญิงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการใช้ของมีคม และเหล็กแหลมต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ใน และนอกตำนานทิ่มแทงไปตามร่างกาย โดยความเชื่อเป็นการรับเคราะห์แทนผู้ถือศีล