คลังเตรียมให้สัตยาบันตั้งบริษัทลูกธนาคารในอาเซียน
คลังเตรียมลงนามในสัตยาบันข้อตกลงให้ธนาคารของสมาชิกอาเซียนเข้าไปตั้งบริษัทลูกในประเทศสมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 49% และเพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเปิดเสรีด้านบริการการเงินในอาเซียนมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเตรียมให้สัตยาบัน (Ratification) ข้อตกลงให้ธนาคารของสมาชิกอาเซียน เข้าไปตั้งบริษัทลูกในประเทศสมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 49%
แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ดำเนินสืบเนื่องในหลายครั้งผ่านการเจรจาหารือร่วมกันและครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงฉบับที่ 9 ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน มีความลึกและกว้างขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดข้อจำกัดของการเข้ามาลงทุนในกิจการธนาคารภายในกลุ่มอาเซียน
ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเรียกว่า ASEAN Framework Agreement on Services ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักในการเจรจาร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่างข้อตกลงนี้แล้ว โดยร่างข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วันหลังจากลงนามให้สัตยาบัน
สำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงฉบับที่ 9 ดังกล่าว เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)
ทั้งนี้ ข้อตกลงฉบับที่ 9 ข้างต้นสำหรับประเทศไทยเป็นข้อตกลงที่สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในด้านธนาคาร
นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับที่ 9 ดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถเจรจาทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าบริการแบบทวิภาคี หรือข้อตกลง ASEAN Banking Integration Framework ที่สามารถเจรจาระหว่างกัน แบบต่างตอบแทนให้เปิดเสรีมากกว่าข้อตกลงที่กำหนดไว้ ซึ่งไทยได้เจรจากับมาเลเซีย ที่จะให้ธนาคารมาเลเซียเข้ามาถือหุ้นในกิจการธนาคารในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 95% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยต้องมีทุนจดทะเบียน 1.5 หมื่นล้านบาท และมีจุดให้บริการไม่เกิน 40 จุด
สำหรับการให้บริการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ตามข้อตกลงฉบับที่ 9 ดังกล่าว การเข้ามาจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยจะต้องได้การอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและต้องมีคนสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 75% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และจะต้องมีกรรมการบุคคลสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด