เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน. 4 เงื่อนปมสำคัญ “ไพบูลย์” ได้ไปต่อ ไม่พ้นสภาพ ส.ส.
เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม! 4 เงื่อนปมสำคัญ “ศาล รธน.” เสียงข้างมากให้ “ไพบูลย์” ได้ไปต่อ ไม่ต้องพ้นสภาพ ส.ส. เหตุยุบเลิกพรรค ปชช. ถูกต้อง ย้ายพรรคภายใน 60 วันตามกฎหมาย เรื่องเป็น “ปาร์ตี้ลิสต์” เป็นคนละกรณีกับก่อนเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากการสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูป ดำเนินการเลิกพรรคโดยถูกต้อง และมีสิทธิ์ในการย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้ตามรัฐธรรมนูญนั้น
อ่านข่าว : “ไพบูลย์”รอด! ศาล รธน.ข้างมากชี้ยุบพรรคตัวเอง-ย้ายซบ พปชร.เป็นไปตาม กม.
โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูป ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่
ข้อเท็จจริงพบว่า กรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) นัดประชุมเพื่อเลิกการดำเนินการของพรรค ตามข้อบังคับของพรรคฯ ข้อที่ 122 โดยเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดในข้อ 54 กล่าวคือ มีกรรมการบริหารพรรคมาประชุม 16 คน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้นคือ 29 คน ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ 16 คน จึงเป็นเสียงข้างมากของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามข้อที่ 55
ดังนั้นมติกรรมการบริหารพรรคที่ให้เพิกถอนพรรค ปชช. จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับพรรคฯ ข้อที่ 122 ประกอบข้อที่ 54 และ 55 โดยมีเหตุผลให้เลิกพรรคว่า เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคการเมืองหลายคนลาออก และอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการของพรรคต่อไป
เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งการเลิกพรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 วรรคสอง และให้กรรมการบริหารพรรค ปชช. ให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนพรรคแล้ว ปรากฏว่า กรรมการบริหารพรรค 15 คน (อีก 1 คนไปต่างประเทศ) ให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องกันว่า ลงมติเลิกพรรค ปชช. ด้วยเหตุผลดังกล่าวจริง
หลังจากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา และ กกต. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรค ปชช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 การสิ้นสภาพของพรรค ปชช. จึงเป็นไปโดยชอบ
2.ข้ออ้างของผู้ถูกร้อง (ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน) ที่ว่าการเลิกพรรค ปชช. ตามข้อบังคับพรรคฯดังกล่าว เป็นเหตุให้พรรค ปชช. สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เป็นการกระทำของนายไพบูลย์ มีเจตนาซ่อนเร้น โดยอาศัยมติกรรมการบริหารพรรค ที่ตนเป็นหัวหน้า มีอำนาจเหนือกว่ากรรมการบริหารพรรค ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานใดแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้ว่า กรณีเป็นไปดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
เมื่อพรรค ปชช. เลิกพรรคตามข้อบังคับพรรคฯ ข้อที่ 122 และ กกต. ประกาศการสิ้นสภาพของพรรค ปชช. รวมถึงราชกิจจานุเบกษาประกาศสิ้นสภาพพรรค ปชช. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 90 (1) ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทำให้สมาชิกพรรคของนายไพบูลย์สิ้นสุดลง
เมื่อพรรค ปชช. สิ้นสุดลง แต่นายไพบูลย์เป็น ส.ส. จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ถือว่า การสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรค โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสมาชิกที่เป็น ส.ส. จะได้รับผลกระทบจากการที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ หลักการเดียวกับการคุ้มครอง ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10)
ดังนั้นเมื่อสมาชิกพรรคที่สิ้นสภาพตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 จึงเข้าไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ นายไพบูลย์จึงสมัครเป็นพรรคการเมืองอื่นใน 60 วัน นับแต่มีคำสั่งเลิกพรรค คือตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2562 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายไพบูลย์ สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2562 จึงเป็นระยะเวลาภายใน 60 วันนับแต่พรรค ปชช. สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
3.ข้ออ้างว่านายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรค ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะชำระบัญชีเสร็จตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 95 ที่บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองสิ้นสภาพ ให้หัวหน้าพรรคส่งบัญชีและงบแสดงฐานะการเงิน รวมทั้งเอกสาร และงบการเงินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสภาพหรือยุบพรรคการเมือง และให้หัวหน้าพรรคยังต้องปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะชำระบัญชีแล้วเสร็จนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่หัวหน้าพรรคที่สิ้นสภาพ หรือยุบพรรค จนกว่าจะชำระบัญชีแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูล ส่งบัญชี และงบดุล รวมทั้งเอกสาร และการเงินของพรรคภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ และห้ามหัวหน้าพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองพรรคที่ถูกยุบหรือสิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น
4.ข้ออ้างว่า นายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นบุคคลที่ถูกพรรค พปชร. เสนอชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่อ กกต. ก่อนการปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงไม่สามารถเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 และ 91 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (4) และมาตรา 57 นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ต0 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกรณีที่อยู่ก่อนการจัดการเลือกตั้ง และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังมีการเลือกตั้ง และนายไพบูลย์ ได้รับการเลือกตั้ง และประกาศเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้ว
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และ 91 วรรคหนึ่ง (5)