ปภ.อัพเดต “น้ำท่วม” 22 ต.ค. มรสุมทำอีก 6 จว.ยังจม-กระทบ 15,205 ครัวเรือน
“ปภ.” อัพเดต “น้ำท่วม” 22 ต.ค. มรสุมทำไทยอ่วม 10 จังหวัด กระทบ 15,205 ครัวเรือน คลี่คลายแล้ว 4 แห่ง เหลืออีก 6 จังหวัดยังจม ส่วน “คมปาซุ” เหลืออีก 2 แห่ง “เตี้ยนหมู่” เสียชีวิตรวม 17 ราย คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม 14 จังหวัด โดยร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 - 19 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด 43 อำเภอ 157 ตำบล 724 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,205 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม และสระแก้ว
ส่วนอิทธิพลพายุ “คมปาซุ” ตั้งแต่วันที่ 15 – 17 ต.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก 6 จังหวัด 12 อำเภอ 33 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,326 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด (ลพบุรี และปราจีนบุรี)
ขณะที่อิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 7 ต.ค. 64 ทำให้เกิดอุทกภัย รวม 33 จังหวัด รวม 226 อำเภอ 1,206 ตำบล 8,265 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 339,346 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 17 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด (มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี) ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป
อ่านข่าว : จับตา! พายุดีเปรสชั่นลูกใหม่เข้าไทย 28 ต.ค.นี้ ทำฝนตกหนัก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 - 19 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 43 อำเภอ 157 ตำบล 724 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,205 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 30 อำเภอ 135 ตำบล 647 หมู่บ้าน 13,134 ครัวเรือน ดังนี้
1. ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอคอนสาร อำเภอบ้านเขว้า อำเภออภูเขียว อำเภอบ้านแท่น อำเภอจัตุรัส อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอเนินสง่า และอำเภอเมืองชัยภูมิ ระดับน้ำทรงตัว
2. นครราชสีมา น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอสีคิ้ว อำเภอพิมาย อำเภอสูงเนิน อำเภอปักธงชัย อำเภอคง อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเมืองยาง อำเภอประทาย และอำเภอโนนไทย ระดับน้ำทรงตัว
3. บุรีรัมย์ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนางรอง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ระดับน้ำลดลง
4. ศรีสะเกษ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอขุขันธ์ ระดับน้ำทรงตัว
5. นครปฐม น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
6. สระแก้ว น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร ระดับน้ำลดลง
ส่วนอิทธิพลพายุ “คมปาซุ” เมื่อวันที่ 15 -17 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 12 อำเภอ 33 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,326 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 407 ครัวเรือน ดังนี้
1. ลพบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชัยบาดาล และอำเภอบ้านหมี่ ระดับน้ำลดลง
2. ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม และอำเภอกบินทร์บุรี ระดับน้ำลดลง
ในส่วนของผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 ก.ย. - 7 ต.ค. 2564 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 226 อำเภอ 1,206 ตำบล 8,265 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 339,346 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 17 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย นครสวรรค์ 3 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 24 อำเภอ 219 ตำบล 1,067 หมู่บ้าน 67,362 ครัวเรือน ดังนี้
1. มหาสารคาม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว
2. สุพรรณบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ระดับน้ำลดลง
3. สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4. อ่างทอง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก และอำเภอวิเศษชัยชาญ ระดับน้ำลดลง
5. พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมขังในในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน และอำเภอบางซ้าย ระดับน้ำทรงตัว
6. ปทุมธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง