ก.เกษตรจับมือสภาอุตฯ ดัน "ไข่ผำน้ำ" เป็น ซุปเปอร์ฟูดของโลก

ก.เกษตรจับมือสภาอุตฯ ดัน "ไข่ผำน้ำ" เป็น ซุปเปอร์ฟูดของโลก

ก.เกษตรจับมือสภาอุตฯ ดัน “1กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตร” ขับเคลื่อนนโยบายรัฐพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร นำร่อง “ผำ” หรือ "ไข่ผำน้ำ" เป็น ซุปเปอร์ฟูดของโลก

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารท็อปเทนของโลกควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานเกษตร 4.0 เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

โดยล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นชอบกำหนด "โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม" โดยเริ่มต้นจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารใน 18 กลุ่มจังหวัด นำไปสู่การกระจายการลงทุน เพิ่มการจ้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรทั่วทุกภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ จ.อุดรธานี กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนจ.อ่างทอง 

และในบางพื้นที่ อาจใช้การเพิ่มโซนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม สามารถเริ่มจากเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือเขตชุมชนอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเอสเอ็มอี.เกษตร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน

 

สำหรับการขับเคลื่อน จะประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

  1. มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warrios) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหาร โดยให้ความสําคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่นอาหารสุขภาพ (Healthy Foods) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food)
  2. มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation)เป็นการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยนําเอานวัตกรรมมาใช้ในการผลิต และ แปรรูปอาหาร และสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด( Intelligence Packaging )
  3. มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจเกษตรและอาหาร(New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม(Platform) ออนไลน์
  4. มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม(Enabling) ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะดึงผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในการพัฒนาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบ Smart Farming

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การกําหนดพื้นที่และสินค้าเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม สินค้า ได้แก่ 

  1. สินค้าเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
  2. สินค้าที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI)
  3. สินค้าเกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ (Healthy drinks) รวมถึง
  4. ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารใหม่ (Novel Food)
  5. อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่นบรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัล
  6. สินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน (Healthy and Functional Food) 

ทั้งนี้ จะนำร่องด้วย “ผำ” หรือ "ไข่ผำน้ำ" (Wolffia) ซึ่งเป็นพืชวัฒนธรรมและอาหารพื้นเมืองของไทย มีมากในภาคเหนือและภาคอิสาน ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นสุดยอดซูเปอร์ฟู้ดของโลกเพราะมีโภชนาการครบถ้วนสูงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์โปรตีน ประกอบกับเป็นพืชน้ำทรงกลมขนาดจิ๋วจึงได้ฉายาว่า “Green Caviar”