WHO - เอฟดีเอ “สหรัฐ” จ่ออนุมัติ "โมลนูพิราเวียร์" ใช้กรณีฉุกเฉิน เร็วนี้
"องค์การอนามัยโลก" เรียกขอข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ จากบริษัทเมอร์ค ก่อนให้การอนุมัติ คาดว่าจะออกแถลงการณ์ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ "เอฟดีเอ" ของสหรัฐ จะประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติยาเร็วนี้
แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO)แถลงว่า WHO กำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทเมอร์คผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ โดย WHO กำลังทำการประเมินและหวังว่าจะมีการออกแถลงการณ์ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เกี่ยวกับแนวทางการใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการปานกลาง โดยได้หารือกับตัวแทนของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค ในวันนี้ (29 ต.ค.) เกี่ยวกับแนวทางการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่า มีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตาที่เป็นสายพันธุ์หลัก ที่ตรวจพบในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ รวมถึงสหรัฐ และสหราชอาณาจักร
ขณะเดียวคณะกรรมการที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)ของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอก จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้(30 พ.ย.) เพื่อหารือกันว่าจะให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ในสหรัฐ เป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่ หลังจากที่บริษัทเมอร์ค ได้ยื่นเรื่องต่อ FDA เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เพื่อขออนุมัติการใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน
คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA จะทำการพิจารณาว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางหรือไม่ ก่อนที่จะทำรายงานเสนอความเห็นแก่ FDA เพื่อประกาศอนุมัติอย่างเป็นทางการเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นเดือน ธ.ค.
แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา FDA มักมีมติสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าว แม้ว่าโดยหลักการแล้ว FDA ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาก็ตาม
หากได้รับการอนุมัติจากFDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดรับประทานชนิดแรก ในตลาดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้บริษัทเมอร์ค เปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 “ทุกสายพันธุ์” ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตาและสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%